7 โรคอันตราย ที่มักเกิดกับสาว ๆ มากกว่าผู้ชาย ! 7 โรคอันตราย ที่มักเกิดกับสาว ๆ มากกว่าผู้ชาย !
25644Visitors | [0000-00-00] 

  • 7 โรคอันตราย ที่มักเกิดกับสาว ๆ มากกว่าผู้ชาย !
  •  
  • เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
                
              แม้ว่าโรคภัยไข้เจ็บส่วนมากจะเกิดขึ้นได้กับคนทั่วไป ในกรณีที่ไม่รักษาสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี แต่โรคหลายชนิดก็มีเงื่อนไขเฉพาะเจาะจง เช่น เกิดขึ้นได้กับเพศหญิงเท่านั้น หรือเกิดขึ้นได้กับเพศชายฝ่ายเดียว เพศหญิงไม่มีทางเป็นได้เด็ดขาด ซึ่งเว็บไซต์ Huffington Post เขาก็ได้นำผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสุขภาพแปลก ๆ ที่ส่งผลให้เกิด 7 โรคกับเพศหญิงมากกว่าเพศชายมาเปิดเผยให้ได้ทราบโดยทั่วกันด้วย คราวนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า โรคภัยไข้เจ็บที่สาว ๆ ควรต้องระวังให้ดีนั้นมีอะไรบ้าง
     
     
     1. โรคปลอกประสาทอักเสบ หรือ โรคเอ็มเอส
                
              โรคปลอกประสาทอักเสบ หรือโรคมัลติเพิล สเคอโรซิส (Multiple sclerosis : MS) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทส่วนกลาง เกิดขึ้นกับคนกว่า 2.1 ล้านคนทั่วโลก แต่ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่โรคร้ายนี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชายถึง 2 ใน 3 เท่าเลยทีเดียว
                
              ผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งยังระบุอีกด้วยว่า โรค MS เป็นโรคในหมู่โรคที่เกิดจากภูมิต้านทานผิดปกติ แต่ด้วยความที่ไม่สามารถระบุแอนติเจน หรือสารที่กระตุ้นให้เกิดการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันอย่างจำเพาะเจาะจงได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอีกหลายคนจึงไม่กล้าฟันธงนักว่า โรค MS จะเป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากภูมิต้านทานผิดปกติจริง ๆ
                
              อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วโรค MS จะออกอาการที่สังเกตเห็นได้ในระหว่างอายุ 20-40 ปี เริ่มจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต และสูญเสียการมองเห็น เป็นต้น ทั้งนี้ในปัจจุบันก็ยังไม่มีวิธีรักษาโรคนี้ให้หายขาด ทำได้แค่เพียงรักษาตามอาการเท่านั้นเองค่ะ
     

     2. โรคลูปัส (SLE)

              โรคลูปัส หรือโรค SLE หรือที่รู้จักกันในนามโรคพุ่มพวง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ภูมิคุ้มกันที่บกพร่องเหล่านี้จะเข้าไปโจมตีเนื้อเยื่อในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะอักเสบตามข้อต่อ และอวัยวะต่าง ๆ ก่อให้เกิดความเหนื่อยล้า ข้อต่อบวม อักเสบ มือ เท้าบวมแดง ซึ่งแพทย์ก็วิจัยแล้วว่า โรคนี้มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 9-10 เท่า และส่วนใหญ่มักจะเกิดกับผู้หญิงในวัย 20-45 ปี

              และถึงแม้แพทย์จะยังหาสาเหตุที่แน่ชัดของโรค SLE ไม่ได้ แต่ผลการวิจัยก็แสดงแนวโน้มว่า สาเหตุของโรคอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ ฮอร์โมนเพศหญิง การตั้งครรภ์ รังสียูวี หรือสารเคมีบางชนิดที่เอื้อให้เกิดโรค SLE ในผู้หญิงก็ได้
     
     
     3. โรคอ่อนเพลียเรื้อรัง

              มีผลการวิจัยจากสถาบันหนึ่งระบุว่า เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคอ่อนเพลียเรื้อรังมากกว่าเพศชายถึง 4 เท่า ลักษณะอาการของโรคก็จะเกิดอาการอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ นอนไม่ค่อยหลับ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว ระบบขับถ่ายปรวนแปร ซึ่งแพทย์ก็สันนิษฐานว่า สาเหตุที่ผู้หญิงมีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายอาจจะเกิดจากฮอร์โมนบางตัวที่อยู่ในร่างกายเพศหญิงนั่นเองจ้า
     

     4. โรคซึมเศร้า

              โรคซึมเศร้า จากผลการวิจัยพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ซึ่งอธิบายในเชิงชีววิทยาได้ว่า เพศหญิงเป็นเพศที่มีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนมากกว่าเพศชาย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือน ระยะตั้งครรภ์ หรือแม้แต่ช่วงหลังคลอดแล้วก็ตาม ฮอร์โมนในร่างกายของผู้หญิงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และส่งผลต่ออารมณ์ของพวกเธอค่อนข้างมาก 

              ทั้งนี้นักจิตวิทยายังบอกเพิ่มเติมอีกด้วยว่า โดยปกติเพศหญิงเป็นเพศที่คิดมาก ค่อนข้างเก็บรายละเอียดมากกว่าเพศชาย ลักษณะนิสัยแบบนี้จึงกระตุ้นให้เกิดความเครียดได้ง่ายขึ้น นำพาไปสู่ภาวะซึมเศร้าในที่สุดค่ะ
     

     5. โรคที่เกี่ยวข้องกับช่องท้อง

              สังเกตไหมคะว่า ผู้หญิงเราจะเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสียได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นประจำเดือน ซึ่งก็สอดคล้องกับการวิจัยของสถาบันวิจัยโรคสุขภาพช่องท้อง ที่เผยว่า ผู้หญิงมักเป็นโรคเกี่ยวกับช่องท้องมากกว่าผู้ชายมากถึง 60-70% 

              สาเหตุก็เกิดจากปริมาณโปรตีนในร่างกายที่ไม่สมดุล ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเพศหญิงเอง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระหว่างที่เป็นประจำเดือน หรือในช่วงที่ตั้งครรภ์ด้วย
     

     
     6. โรคลำไส้แปรปรวน

              นอกจากอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และท้องเสียแล้ว ผู้หญิงก็มักจะมีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ อาหารไม่ย่อย หรือเป็นโรคกระเพาะเรื้อรัง ซึ่งผลการสำรวจจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งก็เผยว่า ในแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคลำไส้แปรปรวนเข้ารับการรักษาราว 3.5 ล้านคน และ 65% ของผู้ป่วยก็มักจะเป็นเพศหญิง 

              แต่ทั้งนี้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ถึงสาเหตุที่โรคนี้เกิดกับผู้หญิงมากกว่าเพศชาย เพียงแต่สันนิษฐานอย่างตรงกันว่า อาจเกี่ยวข้องกับสภาวะความเครียด และฮอร์โมนที่ทำให้ผู้หญิงขาดความสม่ำเสมอในการรับประทานอาหารก็เป็นได้
     

     7. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

              ในสหรัฐอเมริกา มีผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์กว่า 1.9 ล้านคนต่อปี และที่น่าสังเกต คือ ผู้ป่วยโรคนี้มักจะเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ซึ่งกรมอนามัย และสวัสดิการด้านสุขภาพของผู้หญิง ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็อธิบายข้อสังเกตนี้ไว้ว่า เยื่อบุช่องคลอดของเพศหญิงบอบบาง และมีความอ่อนไหวกว่าผิวหนังองคชาตของเพศชาย ทำให้มีโอกาสรับเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อโรคจากการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าผู้ชายนั่นเอง 

              แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังนับว่าโชคดี ที่ยังไม่มีรายงานว่า ผู้หญิงติดเชื้อแคลมีเดีย หรือได้รับเชื้อหนองในจากผู้ชายมาก่อน และหากเพศหญิงมีปัญหาด้านโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ก็มีแนวโน้มจะปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการรักษามากกว่าเพศชายด้วยค่ะ
     

              และนี่ก็เป็นปัญหาด้านสุขภาพ ที่สาว ๆ ควรระวังเอาไว้ให้ดี เพราะในร่างกายของเรามีปัจจัยสนับสนุนให้เกิดโรคเหล่านี้ได้มากกว่าหนุ่ม ๆ เขาเนอะ ดังนั้นสาว ๆ ต้องหมั่นดูแลสุขภาพ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วยนะจ๊ะ