About Us TMWA About Us TMWA
19255Visitors | [0000-00-00] 

ประวัติ

สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯ เริ่มก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ พ.ศ.2494 โดยแพทย์หญิงคุณเพียร เวชบุล เพื่อติดต่อกับสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติ (Medical Women’s International Association หรือ MWIA)

ต่อมา พ.ศ.2503 จึงได้เป็นสมาคมที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี พ ญ. อรวรรณ คุณวิศาล เป็นนายกสมาคมคนแรก ในระยะแรกได้อาศัยสถานที่ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์เป็นสำนักงาน เริ่มปฏิบัติงานโดยให้บริการตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรกในสตรีที่ ร.พ.เซนต์โยเซฟ จัดรายการความรู้แก่ประชาชนทางวิทยุโทรทัศน์และจัดการอภิปรายที่ รพ.สงฆ์ เป็นครั้งคราว

 
พ.ศ.2506 สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย เริ่มมีสำนักงานเป็นของตนเองเป็นตึก 3 ชั้น 5 คูหา เลขที่ 225 สี่แยกหลานหลวง กรุงเทพมหานคร โดยท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ เป็นผู้มอบให้และสมาคมฯเป็นผู้มีสิทธิการเช่าจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยตรง ได้ให้บริการตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรกในสตรี, ตรวจสุขภาพทั่วไปและวางแผนครอบครัว
 
พ.ศ.2508 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2508
 
สมาคมได้ดำเนินกิจการบนอาคารถนนหลานหลวงมากว่า 13 ปี เป็นที่รู้จักกว้างขวาง พ.ศ.2519 สมาคมฯมีมติให้สร้างอาคารใหม่ แทนอาคารเก่าที่ทรุดโทรมและมีปัญหาสถานที่จอดรถ โดย คุณหญิงลิเซต แพทย์โกศล ได้มอบที่ดิน 351 ต.ร.ว. บนถนนสุขุมวิท ตรงข้ามวัดธาตุทอง ให้สมาคมมีสิทธิเหนือพื้นที่ดิน โดยมี พ ญ. คุณมานา บุญคั้นผล นายกสมาคม พ ญ คุณหญิง ตระหนักจิต หะริณสุต และ พ ญ. คุณหญิงตวงภากตร์ ธรรมพานิช เป็นฝ่ายหาทุน ก่อสร้างจนแล้วเสร็จ
 
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ องค์พระบรมราชินูปถัมภ์ของสมาคม เสด็จฯ ทรงเป็นองค์ประธานเปิดอาคารแพทย์โกศล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2524
 
สมาคมฯได้ดำเนินงานบริการทางการแพทย์โดยไม่คิดมูลค่าโดยแพทย์สตรีสมาชิกอาสาสมัครผลัดเวียนกันมาให้บริการนับแต่เริ่มกิจการสมาคมอย่างสม่ำเสมอตลอดมา ได้แก่ คลินิกเวชปฏิบัติทั่วไปปฏิบัติงานวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น. เว้นวันหยุดราชการ ณ อาคารแพทย์โกศล ตรงข้ามวัดธาตุทอง หน่วยแพทย์และทันตแพทย์เคลื่อนที่ ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยโรคทั่วไป และทางด้านทันตกรรมในเขตชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงในวาระสำคัญต่างๆ เช่น วันเฉลิมพระชนมพรรษา คลินิกโรคผิวหนังปฏิบัติงานวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน ณ อาคารแพทย์โกศล เวลา 09.00-11.00 น. ปัจจุบันหน่วยบริการเหล่านี้ได้ปิดตัวลงแล้วเนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศและสภาพสังคมเปลี่ยนไป แต่ยังคงกิจกรรมที่สำคัญเช่นคลินิกตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเบื้องต้น และยังได้ริเริ่มกิจกรรมใหม่เพื่อสังคมและสุขภาพขึ้นอีกหลายโครงการ
 
(อ่านรายละเอียดได้ในกว่าจะมาเป็นสมาคมแพทย์สตรีโดย พ ญ.สนใจ พงษ์พิพัฒน์)Click
 
สมาคมแพทย์สตรี50 ปี แห่งการดูแลสังคม
 
กิจกรรมและผลงานด้านสังคม
 
1. คลินิกตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกในสตรี
 
ให้บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกโวยวิธี Pap smeat และตรวจมะเร็งเต้านมอย่างง่าย รวมทั้งแนะนำวิธีตรวจเต้านมด้วยตนเอง ให้บริการทุกวันเสาร์ที่ 1 และ 3 ของเดือนเวลา 08.00-11.30 น. ณ.บริเวณชั้น 2 ของอาคารสมาคมฯ
 
2. หน่วยเคลื่อนที่ตรวจมะเร็งปากมดลูกระยะเริ่มแรกในสตรีด้อยโอกาส
 
ให้บริการตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมเบื้องต้นแก่ผู้ด้อยโอกาสในทัณฑสถานหญิงในกรุงเทพและต่างจังหวัด และสตรีด้อยโอกาสอื่นๆ จัดปีละ 2 ครั้ง เริ่มมาตั้งแต่ปี 2547
 
3. ชมรมผู้สูงอายุ
 
ได้แก่ ชมรมผู้สูงอายุแพทย์สตรีอุปถัมภ์ สาขาวัดธาตุทอง อาคารแพทย์โกศล และชมรมผู้สูงอายุ สาขาดินแดง ศาลาดำรงลัทธพิพัฒน์ มีกิจกรรมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ได้แก่ กิจกรรมจิตอาสา การออกกำลังกาย รำมวยจีน การฝีมือ ฟังธรรมเทศนา และการร่วมงานกับองค์กรอื่นๆ
 
กิจกรรมด้านส่งเสริมวิชาการแพทย์
 
รางวัล แพทย์สตรีดีเด่น
 
มีการคัดเลือกแพทย์สตรีดีเด่นที่ทำงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ทั้งด้านวิชาการ ด้านบริการการแพทย์และสาธารณสุข ด้านบริหาร และด้านอื่นๆ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นแบบอย่างแก่วงการแพทย์ โดยมอบโล่และรางวัลแก่แพทย์สตรีดีเด่นปีละ 1 คน ตั้งแต่ปี 2519 จนถึงปัจจุบันมีแพทย์ดีเด่นทั้งสิ้น 33 คน จากหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ
 
รางวัลแพทย์สตรีตัวอย่าง
 
ทุกปีจะมีการมอบโล่ แพทย์สตรีตัวอย่างให้แก่แพทย์สตรีอาวุโส เพื่อเป็นแบบอย่างแก่แพทย์รุ่นน้องๆ ในการดำรงวิชาชีพ การครองตน ครองคน ครองงาน มอบปีละ 1-2 ท่าน
 
การประชุมวิชาการสัญจร
 
จัดประชุมวิชาการสำหรับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ปีละ 1-2 ครั้ง ในจังหวัดต่างๆในหัวข้อที่โรงพยาบาลสนใจ โดยสมาคมจะจัดหาวิทยากรและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัด เพื่อเป็นการเพิ่มเติมวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเยี่ยมเยียนสมาชิกในต่างจังหวัด
 
การเป็นตัวแทนในต่างประเทศ
 
เป็นสมาชิกสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติในนามตัวแทนแพทย์สตรีไทย และเป็นตัวแทนกลุ่มประเทศภาคพื้นเอเชียกลางร่วมกับประเทศอินเดีย ได้รับตำแหน่งเป็นรองประธานสมาคมแพทย์สตรีนานาชาติ (vice president) หลายสมัย ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการแพทย์สตรีนานาชาติขึ้นในประเทศไทย 2 ครั้งในปี 2545และปี2550
 
การให้ทุนวิจัยแก่สมาชิก
 
มอบทุนวิจัยสำหรับโครงการวิจัยของสมาชิก ปีละ 1-2 ทุน ทุนละประมาณ 30,000 บาท
 
ทุนการศึกษา
 
ให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลน และทุนการศึกษาแก่นักศึกษาแพทย์สตรีมีที่ความตั้งใจที่จะเป็นแพทย์ในชนบทปีละ 2 ทุน ภายใต้ กองทุนการศึกษาสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยฯเพื่อแพทย์สตรีในชนบท (ชื่อเดิมคือกองทุนการศึกษา ศ.ดร.เจสัน รุซโซ )