เรื่องที่ 027 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน รักลูกอย่าให้ดูทีวี เรื่องที่ 027 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน รักลูกอย่าให้ดูทีวี
4737Visitors | [2017-08-09] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


รักลูกอย่าให้ดูทีวี

 
       วันนี้ขอแลกเปลี่ยนความคิด ความรู้กับคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ในเรื่อง “โทษของทีวีต่อสมองและการเรียนรู้ของลูก” พ่อแม่จำนวนมากมีความเข้าใจว่า การให้ลูกดูทีวีจะช่วยส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ได้เร็วและมากขึ้น โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เศรษฐกิจบริโภคนิยมบีบรัดตัว ความต้องการ ความอยากทันสมัย อยากให้ลูกได้ทัดเทียมคนอื่น ๆ พ่อแม่พยายามหาเงินหาทองมาส่งเสียลูก ๆ ให้เรียนสูง ซื้อสิ่งของ เครื่องอำนวยความสะดวก ของเล่น ให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก ๆ เดี๋ยวนี้ถ้าเราเดินเข้าไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ทั้งในเมืองและชนบท แทบจะไม่มีบ้านใดเลยที่ไม่เปิดทีวี และเราก็จะเห็นภาพพ่อแม่ลูกนั่งทานข้าวร่วมกันหน้าทีวี ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้พูดคุยอะไรกันมากนัก เมื่อจบรายการที่ชอบแล้ว ก็ถึงเวลาลูกนอน ทีวีได้แย่งเวลาที่พ่อแม่ลูกจะใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพ 
ก่อนจะไปต่อกันเรื่องนี้ อยากชวนนั่งพิจารณาสักหน่อยว่า เราได้รับอะไร หรือเรียนรู้อะไรจากทีวีบ้าง ยังไม่ต้องพูดถึงเด็ก ๆ เริ่มจากผู้ใหญ่รุ่นของเรากันก่อน ในวัยสูงอายุ ถ้ามีเวลาว่างพอสมควรหลาย ๆ คนคงเปิดทีวีดู เคยถามตัวเองไหมคะว่า เราดูทีวีทำไม ..... คำตอบแรกที่ดิฉันมักจะได้ก็คือ .... ได้ความรู้ ดูข่าว ติดตามสถานการณ์บ้านเมือง .... แต่เมื่อถามต่อไปว่า ลองทบทวนสักนิดว่า เราดูรายการอะไรบ้าง เป็นข่าว ความรู้ หรือ บันเทิง อย่างละสักกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนมากเมื่อได้มีเวลาทบทวนแล้ว ก็จะให้คำตอบว่า ส่วนใหญ่รายการทีวีบ้านเรามีแต่รายการบันเทิง “ละคร เกมโชว์ ..” มีรายการสาระน่ารู้น้อยมาก และก็มีน้อยลงไปอีกที่ตั้งใจดูทีวีเพื่อติดตามสาระความรู้ .. ทุกคนจึงเห็นตรงกันว่า ในจิตใต้สำนึกที่ผลักดันให้เราเปิดทีวีดู ก็คือ บันเทิง ส่วนมาก ก็มักจะติดตามละคร (น้ำเน่า) ทั้งที่พอเริ่มเรื่อง ทุกคนก็พอจะเดาออกแล้วว่า ตอนจบจะเป็นอย่างไร และ เกมโชว์ ส่วนรายการข่าว แม้จะมีสลับบ้างเป็นระยะ ๆ ก็ถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่น้อยกว่ารายการบันเทิงมาก ........... ถ้าเราลองหันมาเจาะให้ลึกขึ้นไปอีก นอกจากบันเทิงจากละคร เกมโชว์ แล้ว สิ่งที่เราได้โดยไม่รู้ตัวก็คือ ... โฆษณา ... ซึ่งจริง ๆ ทุกรายการเขาตั้งใจให้เราดูโฆษณามากกว่าดูรายการของเขา เพราะสัดส่วนรายการกับโฆษณา เกือบพอ ๆ กันทีเดียว ดังนั้น แม้เราไม่ตั้งใจดู แต่เพราะรายการโฆษณาเจาะจงฉายให้เราเห็นด้วยความถี่สูงมาก เช่นในหนึ่งชั่วโมง เราอาจได้เห็นโฆษณา (ที่แม้ว่าจะสั้นเพียงรายการละ 30-60 วินาที) ด้วยภาพและเสียงที่ซ้ำ ๆ กันถึง 4-5 ครั้ง ซึ่งการทำภาพยนตร์โฆษณาปัจจุบันใช้เทคนิคสูงมาก ทำให้ดึงความสนใจและจดจำในจิตใต้สำนึกของเราไปนาน เพราะฉะนั้นพอดูโฆษณาไม่กี่วัน เราก็จำภาพ เสียง เพลง และสิ่งที่เขาอยากบอกเรา จูงใจให้เราซื้อเราใช้อย่างไม่รู้ตัวเลย และนั่นคือ กลยุทธ์ที่รายการทีวีทำกับสมองของเราที่เป็นผู้ใหญ่.... นับประสาอะไรกับเด็ก
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกหลานในวัยต่ำกว่า 6 ปี จะสังเกตว่า ลูก ๆ สามารถจดจำโฆษณาได้อย่างรวดเร็วกว่าเรามาก เด็ก ๆ ถ้าลงได้เคยดูโฆษณาแล้ว ก็มักจะชอบเพราะโฆษณามีเพลงประกอบที่เร้าใจ สนุก มีภาพที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว สีสันน่าตื่นตาตื่นใจ โดยเฉพาะโฆษณาขนม หรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของเด็ก เขาก็จะต้องทำให้เตะตาเตะใจกลุ่มเป้าหมาย อยากขายขนมให้เด็กๆ ก็ต้องทำให้โฆษณาเร้าใจชวนให้อยากรับประทานขนมนั้น นักออกแบบภาพยนตร์โฆษณา ก็ต้องหาเทคนิคที่จะหลอกสมองของเราให้ชอบตั้งแต่แรกเห็น ทำให้เราอยากลิ้มลองรสชาติ เด็ก ๆที่เคยดูหนังโฆษณามักจะร้องเพลง หรือเต้นตามภาพที่เห็น ผู้ใหญ่เห็นลูกก็เอ็นดูว่าลูกเก่ง ทำได้ สิ่งที่คุณเห็นลูกทำตามทีวี ไม่ใช่เรื่องน่าชื่นชมเลย เพราะไม่ได้ยากอะไรเลยสำหรับลูกที่มีสมองอัจฉริยะ (เด็กทุกคนล้วนมีสมองอัจฉริยะทั้งสิ้น เพราะเรียนรู้ได้เร็วมากกว่าผู้ใหญ่เยอะ) แป๊บเดียวลูกก็จำได้ และทำตามได้แล้ว .... แต่หยุดก่อน ..... นี่คือสิ่งที่เราอยากให้ลูกเราทำได้หรือเรียนรู้จริงหรือ...
      อันที่จริงภาพและเสียงในทีวี กระตุ้นเพียงสมองบางส่วนของเด็ก ๆ เท่านั้น นั่นคือ ส่วนของการมองเห็นภาพ (ในลักษณะเพียง 2 มิติ อย่าลืมว่าภาพในทีวี ไม่มีทางทำให้เหมือนจริงได้ ยกเว้นในยุคต่อไป) และเสียง เท่านั้น ถ้าจำได้ในฉบับที่แล้ว หมอได้เน้นให้ทุกท่านทำความเข้าใจ ถึงวิธีเรียนรู้ของเด็ก และสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ นั่นคือ ต้องให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 เพราะฉะนั้น ทีวีก็ไม่สามารถตอบสนองได้เลย แถมยังเป็นการทำลายสมองส่วนรับประสาทสัมผัสอื่น ๆ เพราะทำให้ฝ่อไป เนื่องจากไม่ถูกใช้งานเท่าที่ควร และการที่เด็กเรียนรู้เพียงภาพและเสียง เด็กจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องที่ปรากฏนั้นได้จริงๆ เช่น ถ้าเราอยากให้ลูกรู้จัก “ช้อน” ถ้าให้ดูภาพช้อน หรือมีเสียงเคาะช้อน เท่านั้น ลูกก็จะรู้จักช้อนแบบแบน ๆ ไม่ใช่ช้อนที่เป็นช้อนจริง ๆ เพราะไม่เคยสัมผัสตัวช้อนว่ามีความลึก หนา บาง ผิวสัมผัสอย่างไร ร้อนเย็นแค่ไหนเมื่อเอามือจับ เพราะฉะนั้นถ้าลูกไม่เคยจับช้อนเลย เพียงเห็นภาพและเสียงในทีวี ความทรงจำของลูกเกี่ยวกับช้อน ก็ไม่ใช่ช้อนจริง ๆ แต่เป็นช้อนที่จำลองขึ้นเท่านั้น ... ยกตัวอย่างเรื่องง่าย ๆ เพียงเท่านี้ ก็คงพอเข้าใจว่า ทีวีไม่ได้ให้สิ่งที่เด็กควรจะได้ และแถมยังทำลายสมองส่วนอื่น ๆ ทางอ้อมด้วย 
       วันนี้ ขอทิ้งไว้แค่นี้ก่อน ฝากให้ไปคิดกันให้หนัก ถ้าอยากจะลองสำรวจด้วยตัวเอง วันนี้อ่านบทความนี้แล้ว ลองเปิดทีวี นั่งดูคนเดียวอย่างสงบ หาปากกา กระดาษ นาฬิกา มาบันทึกว่า แต่ละชั่วโมงท่านได้เห็นภาพอะไร ได้ยินเสียงอะไร ได้เรียนรู้อะไร จริง ๆ จากทีวีบ้าง และการที่เสียเวลามานั่งดูทีวี เทียบกับไปปฏิบัติภารกิจอื่น หรืออ่านหนังสือ เราสูญเสียอะไรไปบ้าง แล้วหันมาดูเจ้าตัวเล็กของเราว่า ถ้าเราเลี้ยงลูกด้วยทีวี .. ลูกเราจะฉลาดจริงหรือ... 

 

ขอเชิญร่วมแสดงความคิดเห็น โดยLogin เข้าFacebookของท่าน แสดงความคิดเห็นได้เลยค่ะ