เรื่องที่ 028 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน 1 เรื่องที่ 028 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน 1
3803Visitors | [2017-08-16] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ตอน พัฒนาความทรงจำด้วยการเล่านิทาน อ่านหนังสือ สอนพูด (1)

      ฉบับที่แล้วhttp://www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=682ได้พูดคุยกับคุณพ่อ คุณแม่ คุณครู ฯ ถึงโทษของการดูทีวี โดยเฉพาะในเด็กเล็กก่อน 6 ขวบ ข้อเสียอีกอย่างสำหรับการที่ลูก ๆ ดูทีวีบ่อย ๆ ก็คือ จะเลียนแบบสิ่งไม่ดีหลายอย่าง เช่น จากผู้ประกาศ หรือ ดารา นักร้องที่พูดภาษาไทยไม่ชัด (ขณะนี้น่าเป็นห่วงว่า การพูดไม่ชัดกลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว แม้จะมีการรณรงค์เรื่องนี้ แต่ดูเหมือนวัยรุ่น โดยเฉพาะดารา นักร้อง ของบ้านเราจะไม่เห็นเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแก้ไข) ทั้งที่ภาษาไทยเป็นภาษาที่ไพเราะ มีลักษณะเด่นที่คำควบกล้ำ วรรณยุกต์ ฯ ทำให้มีเสียงแตกต่างกันมากมาย จนเหมือนท่วงทำนองดนตรี เมื่อเด็กพูดไม่ชัดตั้งแต่เล็ก ๆ และไม่ได้รับการแก้ไข เวลาเข้าโรงเรียนก็จะแก้ไขยาก หรือหากไม่ได้รับการแก้ไขก็จะติดเป็นลักษณะประจำตัว แม้ดูเป็นเรื่องเล็ก แต่คนโบราณมีสุภาษิตเตือนใจว่า “สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อตระกูล” คุณพ่อคุณแม่ คงไม่อยากให้ลูกของเรามีบุคลิกภาพไม่ดี กลายเป็นที่ขบขันของคนอื่น ๆ นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างมีความเห็นตรงกันว่า “พัฒนาการทางภาษา” มีส่วนสำคัญต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาอย่างชัดเจน ดังนั้น หลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพัฒนาการภาษา โดยส่งเสริมให้คุณแม่เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ตั้งท้อง 
“ภาษา” เป็นระบบสัญลักษณ์ที่มนุษย์ใช้ติดต่อสื่อสารกัน สัญลักษณ์ภาษาประกอบด้วย การพูด การเขียน การวาดภาพ และการใช้สัญลักษณ์ซึ่งมีความหมายเฉพาะในเรื่องต่าง ๆ (เช่น ป้ายจราจรที่เป็นภาพลูกศร เป็นภาษาที่ผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเรียนรู้และปฏิบัติตามเพื่อให้ปลอดภัย) ภาษาปรากฏในหลายรูปแบบ เช่น ในหนังสือ การพูด การแสดงละคร ดนตรี วิทยุ ทีวี ภาพยนตร์ ฯ สำหรับเด็กเล็ก การเรียนรู้ภาษาที่ดีที่สุดคือ การฝึกมอง ฟัง พูด คุย ซักถาม ตอบ ระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก เพราะภาษาที่มาจากผู้เลี้ยงดูมีองค์ประกอบของอารมณ์ความรู้สึกอยู่ด้วย เด็กจึงไม่เพียงได้ฝึกฝนภาษาเท่านั้น แต่ยังทำให้ความเข้าใจภาษาลุ่มลึกอันเป็นการกล่อมเกลาพัฒนาการทางอารมณ์ควบคู่ไปด้วย
“การพูด” เป็นสัญลักษณ์หนึ่งของภาษา หมายถึง ความสามารถในการสื่อสารกับผู้อื่นด้วยการออกเสียง ทั้งการพูดและการใช้ภาษาจึงถือเป็นกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ตั้งแต่(ก่อนเกิด) แรกเกิด ค่อย ๆเติบโตไปจนเป็นผู้ใหญ่ ทำให้มนุษย์เราสามารถทำความเข้าใจทั้งในเรื่อง “สาระความรู้” เกี่ยวกับโลกและสิ่งรอบตัว ตลอดจนทำความเข้าใจผู้อื่นด้านอารมณ์ ความรู้สึก และบุคลิกภาพ พร้อมกันไปด้วย และลองนึกภาพความรู้สึกปิติสุขของเราเวลาที่เราได้ยินเสียงพูดของลูกเล็ก ๆ ในเรื่องที่สนใจ ตอบคำถาม ถามคำถาม อธิบาย บอกความรู้สึก ความต้องการต่าง ๆ แม้ว่าชุดของภาษาที่เด็กใช้จะไม่มาก แต่ก็ได้ก่อความสุขอันยิ่งใหญ่ขึ้นในใจของเรา ยิ่งเราได้ตระหนักถึงความเจริญเติบโตทางภาษา ในการที่ลูก ๆ ถามคำถามที่ยากขึ้น หรือตอบคำถามของเราได้ยาวมากขึ้น ใช้คำที่ซับซ้อนมากขึ้น บางทีก็พูดภาษาปรัชญาออกมาจนเราตื่นตะลึงไปก็มี ถ้าหากเราฝึกสังเกตและบันทึกความก้าวหน้าเหล่านี้ไว้ เราก็จะตระหนักถึงความมหัศจรรย์แห่งสมองของลูกน้อยของเรา ที่มีพัฒนาการก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วอย่างคาดไม่ถึงทีเดียว
ก่อนที่ลูกจะรู้จักความหมายของคำต่าง ๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ใช้ในบ้าน ลูกได้ฝึกทำความคุ้นเคยกับลักษณะของเสียง คลื่นเสียง อารมณ์ที่มากับเสียง เช่น เมื่อลูกยังอยู่ในท้องคุณแม่ ก็จะรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของคุณแม่ผ่านเสียงหัวใจเต้น คลื่นเสียง ฯ จนคุ้นเคย เมื่อคลอดแล้ว คุณแม่ให้นม ดูแล ก็ค่อย ๆ สะสมความคุ้นเคย และสร้างความทรงจำเกี่ยวกับภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความรู้สึกของคุณแม่ จนเกิดวงจรความทรงจำที่ใช้แยกแยะว่า คุณแม่แตกต่างจากคนอื่น ๆ ในบ้านอย่างไร เมื่อ “หู และประสาทรับเสียง” พัฒนามากขึ้น ก็จะเริ่มแยกแยะ ทำความเข้าใจกับเสียงที่ประกอบกันขึ้นเป็นคำพูด ตลอดจนพยายามจับ “ความหมาย” ของคำต่าง ๆ โดยในช่วงแรก ๆ เพียงเข้าใจ “คำเดี่ยว” ต่อมาจึงค่อย ๆ สะสมความรู้ ความทรงจำ ออกมาเป็นคำผสม วลี แล้วจึงเข้าใจประโยค แต่ความเข้าใจเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ดีก็ต่อเมื่อ คุณพ่อคุณแม่ขยันฝึกสอนลูกตั้งแต่เล็ก ๆ จนโต ภาระการฝึกลูกนี้ไม่ควรมอบให้คนอื่น ๆ(เช่นคนเลี้ยงเด็ก) เพราะความแตกต่างระหว่างการสื่อสารกับลูกด้วยความรักของพ่อแม่ กับคนอื่น ๆ ส่งผลต่อพัฒนาการทางภาษาของลูกอย่างที่เราอาจคาดไม่ถึง โดยเฉพาะหากคนเลี้ยงเด็กขาดความเข้าใจ เป็นคนต่างชาติต่างภาษา ฯ ไม่ระมัดระวังในการสื่อสารกับเด็ก (ทั้งด้วยภาษาพูด ภาษาท่าทาง อารมณ์ฯ) 

ฉบับหน้า เราจะคุยกันต่อเรื่องนี้ 


การพูดของลูกในขวบปีแรก จะช้าหรือเร็ว อยู่ที่เราจะช่วยฝึกลูกหรือไม่อย่างไร นอกเหนือจากลูกจะต้องทำความคุ้นเคยกับเสียง ความหมายของเสียงที่ได้ยินแล้ว ลูกจะต้องฝึกใช้กล้ามเนื้อรอบริมฝีปาก ฟัน ลิ้น และกล่องเสียง ในการเปล่งคำพูดเลียนแบบที่ได้สังเกตเห็นจากคุณแม่ คุณพ่อ เพราะฉะนั้น ตั้งแต่แรกเกิด ควรให้ลูกได้มองเห็นวิธีการพูดของคุณแม่ คุณพ่อบ่อย ๆ เวลาอุ้มและคุยกับลูก ควรมองหน้าลูก และเปล่งคำพูดช้าๆ เช่น อยากสอนลูกพูดคำว่า “แม่” หรือ “พ่อ” ทำบ่อย ๆ ลูกจะเริ่มหัดเลียนแบบห่อปาก แบะปาก และเปล่งเสียงเลียนแบบเรา เช่นนี้ ลูกจะได้มีพัฒนาการพูดไม่ช้ากว่าวัย แต่ไม่ต้องเร่งรัด ให้เวลากับลูกมาก ๆ เด็กที่พูดช้า เป็นสัญญาณว่า พัฒนาการภาษาอาจล่าช้า อันจะส่งผลถึงสติปัญญาของเด็กในอนาคต