เรื่องที่ 030 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอนดวงตาเป็นหน้าต่างสู่ความทรงจำต่อโลก เรื่องที่ 030 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอนดวงตาเป็นหน้าต่างสู่ความทรงจำต่อโลก
3834Visitors | [2017-09-01] 

ดวงตาเป็นหน้าต่างสู่ความทรงจำต่อโลกกว้าง

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


      ฉบับนี้เราจะคุยกันต่อเรื่อง “การมองเห็น” เช่นเดียวกับการได้ยิน การมองเห็นมีความสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กทุกด้าน ด้วยการมองเห็น เด็กเล็กจะทำความเข้าใจเกี่ยวกับมิติ ระยะ ขนาด รูปร่าง การมองเห็นมีความสำคัญต่อการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม มีความสำคัญต่อการฝึกใช้กล้ามเนื้อ เช่น การปีนป่าย ลุกยืน ขึ้นและลงบันได การวาดภาพ ใช้นิ้วมือหยิบของเล็ก ๆ เช่นเดียวกับการได้ยิน หลังอายุ 3 เดือน เราจะสังเกตพบปัญหาการมองเห็นได้ง่ายขึ้น แต่บางกรณีก็อาจปรากฏชัดเจนในช่วงขวบปีที่สอง  สิ่งที่พ่อแม่ควรเฝ้าสังเกตหากเกิดอาการเช่นนี้เป็นเวลายาวนาน ก็คือ ตาเข หันหัวไปข้างใดข้างหนึ่ง กระพริบตาถี่ ๆ ไม่ตอบสนองเมื่ออยู่กลางแสงแดด มองไม่เห็นวัตถุเล็ก ๆ เด็กจะไม่สามารถพัฒนาการพูดได้ หากมองไม่เห็นสิ่งต่าง ๆ ชัดเจน

      คุณพ่อคุณแม่ต้องตระหนักว่า การมองเห็นเกิดขึ้นได้ก็คือ เด็กต้องมีดวงตาปกติ จอรับภาพภายในตาปกติ มีการส่งสัญญาณภาพไปที่สมองปกติ เพื่อเด็กจะมีข้อมูลความทรงจำของภาพต่าง ๆ ซึ่งในเวลาต่อมา เด็กจะเข้าใจภาพที่มองเห็น เชื่อมโยงไปกับการสอนของเราว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้เรียกว่าอย่างไร หากเด็กมีการรับภาพผิดปกติ เช่น เด็กมีภาวะต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด จะไม่สามารถมองภาพชัดเจนได้ เด็กจะเห็นเป็นภาพลาง ๆ เบลอไปหมด หากไม่ได้รับการผ่าตัดแก้ไขต้อกระจกก่อนอายุ 3 ปี อาการตาบอดจะยังคงอยู่แม้ว่าจะผ่าตัดแก้ไขต้อกระจกในภายหลัง เนื่องจากไม่มีข้อมูลภาพที่ชัดเจนในสมอง ต้องตระหนักว่า ระยะของการพัฒนาการมองเห็นของเด็กสั้นมากเพียงช่วง 3 ปีแรกของชีวิตเท่านั้น จึงจะมีโอกาสแก้ไขให้กลับมาปกติได้ 

      นอกจากนี้ การมองเห็นยังเป็นปัจจัยสำคัญของการสร้างความทรงจำต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เราลองมาดูว่า นักวิทยาศาสตร์เข้าใจเรื่องความทรงจำอย่างไร 
ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการสติปัญญาของมนุษย์ และสัมพันธ์กับการเรียนรู้อย่างแนบแน่น สติปัญญา หรือ ความสามารถในการ “เข้าใจ และคิด” อยู่บนฐานของข้อมูลที่มนุษย์บันทึกไว้ในสมองของเรา หากมีมากก็จะเพิ่มพูนความสามารถในการคิดมากขึ้น ซับซ้อนขึ้น ความทรงจำของมนุษย์มีอย่างน้อย 3 ระบบ คือ 
      ►ความทรงจำที่เกี่ยวเนื่องกับการรับสัมผัส (มองเห็นภาพ ได้ยินเสียง ได้กลิ่น ลิ้มรส การสัมผัสทางผิวหนัง และความรู้สึกภายใน) เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของพัฒนาการในช่วงเด็กเล็ก เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านประสาทสัมผัส และจะนำไปเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อทำความรู้จัก และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ แต่เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะลดความสำคัญลง 
      ►ความทรงจำระยะสั้น เป็นระบบที่เราใช้ในชีวิตประจำวันมากที่สุด ในห้วงเวลาหนึ่ง ๆ คนเราจะใช้ข้อมูลหรือดึงข้อมูลจากความทรงจำได้จำกัด เกิดขึ้นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเรื่องนี้ ที่จะค่อย ๆ ฝึกสอนให้ความทรงจำกับเด็กทีละน้อย ไม่ต้องเร่งรัด เด็กต้องการเวลาสะสมและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ทีละเรื่อง ทีละน้อย
      ►ความทรงจำระยะยาว เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่เราเรียนรู้เกี่ยวกับโลกที่เราอาศัยอยู่ เริ่มตั้งแต่การเรียนรู้ภาษา เพื่อสื่อสาร ทำความเข้าใจคนรอบข้าง รู้จักสิ่งต่าง ๆ และค่อย ๆ มากขึ้นไปถึงการเข้าใจความซับซ้อนของกฎธรรมชาติ วิทยาศาสตร์ อันเป็นรากฐานสำคัญในการดำรงชีวิตเมื่อก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ เป็นส่วนสำคัญที่เราใช้ในการพิจารณาตัดสินใจดำเนินชีวิต วิธีที่เราตอบสนองต่อโลกขึ้นกับข้อมูลที่เราเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว
     
      ทั้งสามระบบต่างเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน และเสริมซึ่งกันและกัน ความทรงจำนอกเหนือจากใช้เก็บข้อมูลที่มีความหมายต่อชีวิตของเราแล้ว ยังเป็นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทั้งสิ่งของ ผู้คน และ เหตุการณ์ เชื่อว่า เด็กเริ่มจัดระบบความทรงจำระยะยาวตั้งแต่อายุ 9 เดือน แต่เราจะเริ่มสังเกตได้ชัดเจนประมาณอายุ 18 เดือน แต่โดยมาก พ่อแม่มักมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความทรงจำของลูก ๆ ก่อนอายุนี้แล้ว เมื่อเข้าสู่วัยขวบครึ่ง เด็กจะมีความสามารถในการเข้าใจสัญลักษณ์ของสิ่งรอบตัวพอสมควร และความทรงจำนี้จะเพิ่มพูนมากขึ้น ๆ เมื่อครบ 3 ขวบ จะพัฒนาระบบความทรงจำระยะสั้น ในขอบเขตความสามารถด้านภาษาของเด็ก นั่นหมายความว่า ถ้าลูกมีพัฒนาการภาษา คือ การเข้าใจ สื่อสารคำพูดต่าง ๆ ได้มาก ก็จะมีข้อมูลในความทรงจำมากเท่านั้น 
      ฉบับหน้า จะทำความเข้าใจเรื่อง “ความทรงจำ” ให้มากขึ้น เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยเหลือลูก ๆ ได้มากขึ้น และพัฒนาสติปัญญาได้แต่เนิ่น ๆ