เรื่องที่ 034 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน ความทรงจำแบบเดจาวู เรื่องที่ 034 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี ตอน ความทรงจำแบบเดจาวู
4336Visitors | [2017-09-28] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกพัฒนาความทรงจำอย่างถูกวิธี

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ตอน ความทรงจำแบบเดจาวู

      ฉบับที่แล้วเข้าเรื่องความทรงจำระยะยาวโดยเฉพาะสิ่งที่เราจดจำโดยไม่รู้ตัว http://www.tmwa.or.th/new/view.php?topicid=709 ทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยตั้งใจสอน แต่เราเผลอทำให้ลูกดู หรือ รับซึมซับจากเราบ่อย ๆ เพราะนิสัยของเรา เช่น นิสัยพูดไม่เพราะ การชอบสบถ ฯ จากความทรงจำของเราในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งความทรงจำระยะสั้น ความทรงจำระยะยาว ทั้งแบบที่ชัดเจน และที่ไม่รู้ตัว นักวิจัยสนใจปรากฏการณ์ในเรื่องการดึงความทรงจำออกมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ หนึ่งในนั้นก็คือ เดจาวู 

      บ่อย ๆ เหมือนกันที่เราไปสถานที่บางแห่ง หรือพบใครบางคน แล้วตัวเราก็รู้สึกว่า “มันคุ้นๆ เหมือนเคยมาที่นี่ หรือ พบคนนี้มาแล้ว แต่จำไม่ได้” อะไรประมาณนี้ ลักษณะแบบนี้คนฝรั่งเศสเรียกว่า เด จา วูและอีกแบบหนึ่งก็คือ จา ไม วู” ก็เป็นภาษาฝรั่งเศสเหมือนกันค่ะ หมายถึง สถานที่ เหตุการณ์ หรือ บุคคล ที่เรารู้สึกว่าไม่เคยประสบมาก่อน ไม่เคยพบมาก่อน ทั้งที่เราแน่ใจอย่างยิ่งว่า เราเคยพบหรือประสบมาแล้ว ก็เป็นตรงข้ามกับเด จา วู ที่กล่าวมาแล้ว สาเหตุก็คือ ภาวะแวดล้อมที่ปรากฏในปัจจุบันไม่เข้ากับสิ่งที่เราเคยเรียนรู้หรือประสบมาแล้ว ทำให้เราจำมันไม่ได้ 

ปรากฏการณ์อีกแบบที่เราพบบ่อยก็คือ ความทรงจำอันเนื่องจากเหตุการณ์ที่เราประทับใจมาก ๆ ทั้งในด้านบวก หรือ ลบ เช่น เราคงจดจำภาพยนตร์สมัยก่อนที่เราชอบมาก ๆ ดูตั้ง 5-6 ครั้ง ก็ไม่เบื่อ หรือ แม้เป็นเหตุการณ์เพียงครั้งเดียว เช่น การเสียชีวิตของเจ้าหญิงไดอานา ที่เป็นขวัญใจของคนจำนวนมาก แม้เราไม่ได้ประสบด้วยตนเอง อ่านจากข่าว หลาย ๆ คนก็ยังมีความทรงจำเสมือนเพิ่งเกิดเมื่อไม่นานนี้เอง  หรือเหตุการณ์ในอดีตอย่างเช่น นักร้องวงโปรด จอน เลนนอนถูกฆ่าตาย หรือ จรวดชาเลนเจอร์ที่ระเบิดเมื่อปี 2529 แม้เวลาผ่านไปนาน 20 ปีแล้วก็ตาม หลายคนก็ยังคงจดจำภาพที่เราเห็นจากทีวี เมื่อจรวดเพิ่งขึ้นไปยังไม่พ้นโลก แต่เกิดระเบิดขึ้นทันที นักบินอวกาศทั้งหมดแหลกไปกับจรวดลำนั้น เพราะฉะนั้นความทรงจำแบบนี้มีผลกระทบกับสมองของเราทำให้เราจำได้นาน

            อีกแบบหนึ่งที่พบบ่อยมาก ก็คือ “มันเหมือนติดอยู่ที่ริมฝีปาก” ทำไมนึกไม่ออกนะ ทำให้เราหงุดหงิดจริง ๆ แล้วสุดท้ายเราก็อาจยอมแพ้เพราะนึกไม่ออก หรือ ลืมไปก่อน สักพักเราก็กลับมาพยายามทบทวนความทรงจำอีก พอนึกได้ โอ้โฮ โล่งอกทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย แต่ทำความรำคาญให้เรามาก ยิ่งอายุมากเท่าไร ก็จะพบลักษณะแบบนี้บ่อยกว่าเด็ก หรือ วัยรุ่น คำอธิบายสำหรับเรื่องนี้มี 2 แบบ คือ ถ้าบางสิ่งที่คล้าย ๆ กันเข้ามารบกวนความจำ เช่น เราจะพยายามนึกชื่อขนมกล้วย แต่เพื่อนกำลังคุยกันเรื่องขนมใส่ไส้หรือส่งขนมมาให้ ซึ่งมันคล้ายกับขนมกล้วย เราจะพยายามนึกว่า เอขนมที่ได้นี้มันเรียกว่าอะไรนะ คำอธิบายอีกอย่างคือ ความทรงจำเกี่ยวกับเรื่องนั้นไม่สมบูรณ์ ทำให้เราไม่สามารถนึกชื่อได้สมบูรณ์

            อีกส่วนที่สำคัญคือ ความสามารถของเด็กในการดึงความทรงจำได้อย่างถูกต้อง กับ ความทรงจำที่บิดเบี้ยวไปจากสิ่งที่เราเคยประสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มนุษย์เรามีแนวโน้มที่จะเชื่อว่า ความทรงจำในวัยเด็กของเราเป็นสิ่งที่ถูกต้องและน่าจดจำอย่างยิ่ง ยิ่งถ้าเป็นเหตุการณ์หรือความทรงจำที่มีรายละเอียดมาก เช่น ความประทับใจในวัยเด็กสมัยประถมศึกษา เราเป็นเด็กรำสวย แล้วได้รับโอกาสให้รำถวายหน้าพระที่นั่งสักครั้งหนึ่ง แม้เป็นครั้งเดียวในชีวิตแต่เราพยายามจดจำเหตุการณ์ และภาวะแวดล้อมทั้งหมด ในระหว่างที่รำถวาย เราไปได้สวยจนจบเพลง เมื่อถึงเวลาที่เขาเรียกชื่อเราให้ออกไปรับรางวัลจากพระหัตถ์ขององค์ประธาน ปรากฏว่าด้วยความตื่นเต้น เราสะดุดผ้าถุงเซไปเกือบล้ม แต่ไม่ล้ม แล้วเราได้ยินเสียงหัวเราะ ขายหน้าจริง ๆ เราคิดว่าเราจำได้ทั้งหมด แต่ปรากฏว่า เหตุการณ์หลังจากรับรางวัลนั้นหรือในช่วงรับรางวัลเราจำไม่ได้แล้วหรือจำผิดไป ภายหลังเราได้รับรู้ก็น่าแปลกใจว่า ทำไมบางช่วงเราจำได้ถูกต้อง และบางช่วงเราจำผิดไม่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง นักวิจัยพยายามทำความเข้าใจปรากฎการณ์นี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่มีแรงจูงใจให้เราจดจำได้เกือบทั้งหมด เหตุผลที่ค่อนข้างเห็นพ้องต้องกันก็คือ เพราะสมองของเราพยายามดึงความทรงจำบนฐานของอคติหรือสมมติฐานของเราเอง เพื่อให้สามารถต่อเรื่องต่อราวให้ได้ตามเป้าหมาย ตามกระบวนคิดหรือรูปแบบวิธีคิดของเรา เพราะฉะนั้น ส่วนที่เราควรช่วยและปลูกฝังเด็ก ๆ ก็คือ แทนที่จะผลีผลามเชื่อความทรงจำของเราทั้งหมด ควรกลับมาทบทวน และ มองหาหรือวิเคราะห์รายละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่า สิ่งที่เราดึงออกมาเป็นไปได้จริง หรือ ใกล้เคียงกับเหตุผลที่ควรจะเป็น ซึ่งตรงนี้ ต้องการการฝึกฝนเรื่องสติ ความระมัดระวัง ไม่ประมาท และ ไม่ใจร้อนที่จะหาข้อสรุป เพื่อป้องกันการดึงความทรงจำผิด ๆ ของเราออกมา เช่น เราอาจเคยมีความทรงจำเกี่ยวกับผู้ใหญ่บางคนที่เราจำได้ว่าเขาทำร้ายเรา อาจชอบดุด่าว่าเราหรือทำให้เราขายหน้า ส่วนมากเพราะอคติของเรา เรามักจดจำเฉพาะส่วนที่เลวร้ายและลืมเลือนส่วนที่ดีของผู้ใหญ่คนนั้นไป ทำให้เราฝังใจว่าคนลักษณะแบบนี้ เราจะไม่คบหา ไม่เข้าใกล้ นี่จะเป็นการไม่เปิดโอกาสให้ตัวเองในการเข้าไปรู้จักหลากหลายมุมของมนุษย์แต่ละประเภท และ อาจเสียโอกาสบางอย่างไป เพราะอคติในความทรงจำของเรา ในกระบวนการยุติธรรม การเป็นพยานในคดีต่าง ๆ ทั้งที่เราอาจเป็นเจ้าทุกข์ เป็นจำเลย หรือเป็นพยาน ทางระบบยุติธรรมจะต้องคำนึงถึง “ความทรงจำที่ผิดเพี้ยน” โดยเฉพาะในเหตุการณ์ที่ผ่านมานานแล้ว ด้วยเหตุของอคติในกระบวนการความทรงจำในสมองของมนุษย์นั่นเอง