เรื่องที่ 037 เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราอ่านและฟัง คำนวณ ฟังเพลงฯ โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ เรื่องที่ 037 เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราอ่านและฟัง คำนวณ ฟังเพลงฯ โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
4502Visitors | [2017-10-23] 

เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราอ่านและฟัง คำนวณ ฟังเพลง ฯ

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


เมื่อทดสอบ โดย ให้อ่านประโยคภาษาแม่ และประโยคภาษาที่สอง โดยไม่ออกเสียง

ภาพของสมองที่ได้จากรูปที่ 1 บริเวณที่ทำงานจะเป็นสีแดง จะเห็นว่าส่วนต่างๆ ในสมองทั้ง 2 ซีกทำงานพร้อมๆกัน เมื่อเริ่มอ่านประโยค ส่วนที่ทำงาน คือ ส่วนตรวจสอบภาพที่ตาส่งผ่านมาให้ จากนั้นจึงรู้ว่า “อ้อ นี่คือตัวหนังสือ” จากนั้น ส่วนแสดงตำแหน่งของสิ่งที่ตาเห็นก็จะทำงาน เวลาที่ตาเลื่อนไปตามตัวอักษรสุดท้ายก็เป็นส่วนของแปลความหมายของคำศัพท์ที่จะทำงานและทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งที่เราอ่านคือเรื่องเกี่ยวกับอะไร มาถึงตรงนี้มีสิ่งที่น่าสนใจอยู่ข้อหนึ่งก็คือ ส่วนที่สำรวจความหมายของเสียงที่ได้ยินผ่านหู ก็มีการทำงานด้วย ทำไมส่วนนี้ถึงทำงานทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้อ่านออกเสียงเลย คำตอบก็คือ เรามีการอ่านออกเสียง “ในใจ” นั่นเอง และนอกจากนี้แล้ว ส่วนของการจดจำและการคำนวณผล ก็ยังทำงานไปพร้อมกันด้วย ซึ่งส่วนนี้ เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในสมองของเรา 
เรามาดูกันต่อว่า การทำงานของสมองในส่วนใดที่แตกต่างกันในระหว่าง การอ่านภาษาแม่ กับการอ่านภาษาที่สองที่ไม่คุ้นเคย ก่อนอื่นต้องบอกว่า ส่วนของสมองที่ทำงานไม่แตกต่างกันมากนัก เราต้องใช้สมองซีกซ้าย และขวาในการอ่านภาษาแม่ (เช่นภาษาไทย) และภาษาที่สอง (เช่นภาษาอังกฤษ) บางคนอาจจะเคยได้ยินที่ว่า “เรียนภาษาไทยใช้สมองซีกซ้ายเรียนภาษาอังกฤษใช้สมองซีกขวา” แต่ในความเป็นจริง สมองของเราไม่ง่ายดายขนาดนั้น ที่จริงแล้วการใช้สมองสำหรับเรียนภาษาก็คล้ายกัน เพียงแต่ภาษาที่เราไม่คุ้นเคยจะยากกว่าภาษาแม่ เพราะเราไม่มีชุดคำในภาษานั้นบันทึกไว้ตั้งแต่เล็ก และเราไม่ได้ใช้ภาษาที่สองเป็นประจำ เพราะฉะนั้นสมองต้องทำงานมากกว่าการใช้ภาษาแม่อย่างมาก โดยเฉพาะหากมาเรียนภาษาที่สองเอาตอนโต จะยากกว่าภาษาแม่หลาย ๆ เท่า และจะทำใจให้ชอบได้ยากกว่า เพราะฉะนั้นหากต้องการสอนภาษาที่สองให้เด็ก ควรเริ่มก่อนอายุ 5 ปี
 

เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราอ่านออกเสียง

การทำงานของสมองจะเป็นดังภาพที่ 2 บริเวณที่สมองมีการทำงาน โดยมากจะไม่แตกต่าง จาการอ่านโดยไม่ออกเสียง แต่ว่า การทำงานกินบริเวณที่กว้างกว่า โดยเฉพาะบริเวณ ส่วนของการจำและคำนวณผล และส่วนของการแปลความหมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ จะมีการทำงานมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สรุปว่า “การอ่านออกเสียง” สมองจะมีการทำงานมากที่สุด
ถึงตรงนี้ การทดลองทั้ง 2 ที่ผ่านมาคงเป็นเครื่องยืนยันได้แล้วว่า การอ่านมีประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้สมองทำงานและมีการพัฒนาขึ้น โดยเฉพาะการอ่านออกเสียง

เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราคำนวณ

ดำเนินการทดลอง โดยการคำนวณเลขง่าย ๆ สมองทำงานอย่างไร

การคำนวณตัวเลขง่าย ๆ นี้ยืนยันว่า สมองมีการทำงานทั้งซีกซ้ายและขวาในหลาย ๆ ส่วน และการบวก ลบ หรือคูณตัวเลข ส่วนของสมองที่มีการใช้งานเป็นส่วนเดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจในผลการทดลองนี้คือ ในการคำนวณด้วยการคูณนั้น ส่วนของการสร้างคำในสมองก็ทำงานไปด้วย ทำไมสมองส่วนนี้ถึงทำงานเฉพาะในการคูณตัวเลขเท่านั้น พอจะเดาได้หรือไม่ คุณลองเอา 4x4 หรือ 8x8 ดูสิ ได้คำตอบเท่าไร ใช่แล้ว คุณกำลังนึกถึงตารางสูตรคูณแม่ต่าง ๆ ใช่มั้ย ในการท่องสูตรคูณเมื่อตอนเด็กๆ โดยมีการออกเสียง สาเหตุนี้แหละ ทำให้ส่วนของการสร้างคำทำงานไปด้วย เมื่อเราทำการคูณ นอกจากนี้  ยังมีอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การที่พูสมองส่วนหน้าชึ่งทำหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการ จดจําและการคํานวนผลในสมองทั้งซีกซ้ายและขวามีการทำงานอย่างมาก แม้จะเป็นการคำนวณตัวเลขง่ายๆ หรือว่าตัวเลขมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ ในความเป็นจริง ลิงชิมแปนซี หรือสัตว์อื่นที่มนุษย์นำมาฝึก ก็ยังไม่สามารถทำการคำนวณตัวเลขได้ สาเหตุนี้เอง ที่ทำให้พูสมองส่วนหน้ามีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และสามารถนำไปใช้ในเรื่องอื่น ๆ อีกมากมายเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ หรือเพราะมนุษย์มีตัวเลขและฝึกฝนการคำนวณอยู่เสมอ จึงทำให้พูสมองส่วนหน้าของมนุษย์ มีการพัฒนาการที่รวดเร็วกว่าสัตว์อื่น ตกลงว่าเป็นเพราะมนุษย์มีพูสมอง ส่วนหน้าขนาดใหญ่ จึงสามารถคำนวณได้” หรือ เป็นเพราะการคำนวณทำให้พูสมองส่วนหน้า ของมนุษย์เติบโต กันแน่  เหมือนกับการตั้งคำถามที่ว่า “ ไข่กับไก่อะไรเกิดก่อนกัน” เอาเป็นว่า การคำนวณมีความสำคัญต่อสมองของเราอย่างมาก (ดูภาพที่ 3)

เกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่อเราฟังเพลง

แล้วเราก็ค้นพบว่าเนื้อเพลง มีผลน้อยมาก ต่อการทำงานของสมอง ดังจุดสีแดงในภาพที่ 4 ในการฟังดนตรี มีเพียงส่วนของการตรวจสอบเสียงที่เข้ามาทางหูเท่านั้นที่ทำงาน น่าเชื่อว่า เสียงเพลงอาจทำให้ จิตใจเราได้พักผ่อน สมองจึงหยุดพักการทำงานไปด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือ สมองซีกขวาทำหน้าที่ในการ ฟังเสียงดนตรี ในขณะที่สมองซีกซ้ายจะมีหน้าที่ฟังเนื้อเพลง จึงสรุปได้ว่า การฟังดนตรีนั้น สมองทำงานแตกต่างจากการฟังบทสนทนาอยู่ค่อนข้างมาก โดยส่วนที่ทำงานมากที่สุดจะเป็นส่วน ของการตรวจสอบเสียงที่เข้ามาทางหู แต่คงมีน้อง ๆ หลายคนที่เปิดเพลงฟังในขณะทบทวนบทเรียน ไปด้วย ถ้าเราดูจากผลการ ทดลองครั้งนี้ หลายคนอาจจะสบายใจได้ว่า การฟังเพลงไม่รบกวนการทำงาน ของสมองที่ใช้ในการทบทวนบทเรียน ความจริงแล้ว ดนตรีมีผลช่วยให้จิตใจเราสงบ ซึ่งอาจจะเป็นการดีในการสร้างบรรยากาศในการทบทวนบทเรียนได้ แต่ถ้าเราฟังดนตรีที่มีเนื้อร้อง คิดความหมายและร้องเพลงตามไปด้วย สมองจะมีการทำงานมากขึ้น ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น การฟังเพลงในระหว่างทบทวน บทเรียนคงไม่ดีนัก