เรื่องที่ 043 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (6) เรื่องที่ 043 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (6)
3867Visitors | [2017-12-21] 

จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (6)

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (6)

            ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทุกครอบครัวคงเดือดเนื้อร้อนใจไปกับสถานการณ์การเมืองของประเทศ ฉบับนี้ จึงขอคุยกับคุณแม่คุณพ่อ และคุณครู ถือว่าเป็นวิธีคิดอีกอย่างหนึ่งที่อาจแตกต่างไปจากสิ่งที่ท่านมีความเชื่อหรือได้เคยเรียนรู้มา เพื่อกระตุกให้ฉุกคิด และ ช่วยกันพัฒนาลูกน้อย ๆ ของเราให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีอิสระ คิดดี ปฏิบัติชอบ มีเมตตา ให้อภัย และที่สำคัญ รู้จักที่จะเลือกทางเดินชีวิตอย่างสร้างสรรค์

            คุณสมบัติที่กล่าวข้างต้น จะต้องประกอบด้วยการทำงานร่วมกันของสมองหลายส่วน โดยเฉพาะส่วนที่กำหนดความฉลาดในการรู้จักตนเอง มีสติกับตนเอง ซึ่งต้องฝึกกันตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก ๆ พ่อแม่ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะในชนบท ซึ่งยังคงมีความเชื่อว่า หน้าที่การให้การศึกษาฝากไว้เป็นธุระของครู ก็ขอให้ปรับเปลี่ยนกันใหม่ เพราะถ้ารอให้ถึงอายุที่เด็กจะเข้าโรงเรียนแล้วก็อาจจะสายเกินไป เพราะสมองหลายส่วนถ้าไม่ได้พัฒนาก่อน 6 ขวบ รอไปเข้าโรงเรียน ก็เป็นภาระลำบากมากสำหรับครูที่จะต้องช่วยกระตุ้นพัฒนา แต่ถ้าคุณแม่คุณพ่อวางฐานไว้แต่เล็ก ๆ คุณครูก็จะมาต่อยอดในเรื่องความเข้าใจและทักษะของการคิดที่ซับซ้อนมากขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องค่อยๆ ฝึกสอนให้เด็กรู้จักและเข้าใจตัวเอง รู้ว่าเราเก่งอะไร อ่อนอะไร โลกข้างนอกบ้านเป็นอย่างไร เพื่อสามารถตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ จากเล็ก ๆ ไปสู่เรื่องซับซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณแม่คุณพ่อต้องช่วยพัฒนาให้ลูก ๆ รู้จักและมีทักษะในการแสวงหาเรียนรู้ และที่สำคัญ “รักและมีความสุข” ที่จะศึกษาเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ ด้วยตนเอง อย่าลืมนะคะ อย่าได้ปล่อยเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของครู เพราะมันอาจสายเกินไป ถ้าไม่อยากให้ลูกของเราโตขึ้นเป็นภาระของครอบครัวหรือทำความเดือดร้อนให้สังคม ซึ่งก็จะย้อนกลับมาทำความเดือดร้อนให้ครอบครัวของเรา

            สัจธรรมที่สำคัญมากที่เราควรพิจารณาก็คือ “ความเปลี่ยนแปลง” เป็นธรรมชาติของทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว รวมทั้งตัวเราเองและลูก ก็คือ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาตามเหตุและปัจจัย หรือ ครรลองเฉพาะของมัน เราอาจเรียกว่า “กรรม” ลองพิจารณาจากตัวเราเองก็ได้ ภายในร่างกายของเรามีทั้งสิ่งที่ขัดแย้งกัน และกลมกลืนกัน เปลี่ยนแปลงตั้งแต่ปฏิสนธิจนหมดลมหายใจ แม้ธรรมชาติจะออกแบบมนุษย์ให้มีระบบต่าง ๆ ที่ซับซ้อนมากและมีส่วนที่หนุนช่วยกันและกันอยู่เสมอเพื่อธำรงให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ในร่างกายของเรามีทั้งเซลล์เกิดใหม่ และ เซลล์ที่ตายไปทุกขณะ และเป็นที่มาของการที่เราเติบโตขึ้น และ แก่ตัวลง ช่วงที่เราโต คือ ช่วงที่เซลล์เกิดใหม่และเติบโตมีอิทธิพลนำในร่างกาย และช่วงที่เราแก่ตัวเหี่ยวแห้งร่วงโรย คือ เซลล์ที่แก่และตายมีอิทธิพลในชีวิต ไม่มีอะไรแม้แต่ร่างกายของเราเองจะเป็นไปตามความประสงค์และปรารถนาของเราได้ มันเป็นเช่นนั้นตามธรรมชาติ นี่คือ สิ่งแรกที่เราต้องสอนเด็กๆ ของเราให้รู้และเข้าใจ เพื่อมีสติอยู่กับความเป็นจริง ไม่ปฏิเสธหรือหลงไปกับแรงปรารถนาของเราเอง ซึ่งก็จะตกเป็นเหยื่อให้กับคนที่แสวงหาประโยชน์จากความอยาก ไม่อยาก ของมนุษย์ อย่างที่เห็นกันอยู่ดาษดื่น

            วิธีที่ผู้ใหญ่จะช่วยเด็กในเรื่องนี้ได้ ก็ต้องกลับมาปรับวิธีคิดของเราเองก่อน ตั้งแต่เล็ก ๆ ชี้ชวน พูดคุย เล่านิทาน อ่านหนังสือ เมื่อเห็นอะไรที่แสดงภาพการเปลี่ยนแปลงชัดเจน เช่น นิทานบางเรื่อง อาจพูดถึงชีวิตของ “น้องหมี” ที่ออกไปข้างนอกบ้าน แล้วไปพบเพื่อนสัตว์ต่าง ๆ ที่สนิทกันร่วมผจญภัยกันอย่างสนุก จนถึงวันกลับบ้านก็ต้องพลัดพรากจากกันไป นิทานเรื่องเดียวนี้ก็สามารถปลูกฝังให้ลูกเข้าใจเรื่องใกล้ ๆตัว ได้แล้ว เช่น การออกไปนอกบ้าน เพื่อให้ลูกตระหนักว่า นอกครอบครัวที่อบอุ่นปลอดภัย ก็ยังมีโลกภายนอกที่กว้างใหญ่ไพศาล ซึ่ง “น้องหมี” ก็คือลูก ๆ จะต้องไปพบกันสิ่งต่าง ๆ มากมายหลากหลาย ทั้งดี ไม่ดี สนุก เศร้า ฯลฯ สารพัด แล้วลูก ๆ อยากผูกมิตรกับทุกสรรพสิ่งอย่างไร จึงจะอยู่กันอย่างเกื้อกูล ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว นิทานก็คือวิธีที่ผู้ใหญ่จำลองโลกข้างนอก มาแนะนำให้เด็ก ๆ ของเรารู้จัก ทีละเล็กทีละน้อย เพราะฉะนั้น จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกปฏิบัติกับลูก ๆ ที่ว่าต้องฝึก ก็เพราะว่า ไม่เคยมีใครสอนให้เรารู้จักวิธีเล่านิทาน แต่ก็ไม่อยากเกิน เริ่มง่าย ๆ จากการที่ไปหาหนังสือภาพนิทานง่าย ๆ มาลองอ่านให้ลูกฟังก่อน อ่านช้า ๆ ให้มีจังหวะจะโคน อ่านให้ชัดที่สุด ซึ่งจะเป็นการปลูกฝังพัฒนาการด้านภาษาที่สำคัญยิ่งแก่สมองของลูกในวัยนี้ อ่านเรื่องเดียวนี้ก็ได้ให้ลูกฟังบ่อย ๆ ลูกจะเริ่มติดนิทาน จะได้ไม่ต้องดูทีวี เริ่มจากนิทานนี้ ก็ขยายไปคุยกับลูกเรื่อง การดำเนินชีวิตอย่างง่าย ๆ เช่น กิจวัตรประจำวันของน้องหมีคืออะไร แล้วของลูกมีอะไร อะไรที่ลูกยังไม่รู้จักทำไม่เป็น ก็ถือโอกาสที่ลูกติดใจน้องหมี กระตุ้นให้ลูกอยากฝึก (โดยธรรมชาติ เด็กอยากรู้ อยากฝึก อยากทดลองอยู่แล้ว ถ้าลูกไม่อยาก ให้กลับมาทบทวนวิธีเลี้ยงดูของเราว่า ครอบครัวเราดำเนินชีวิตกันอย่างไร ลูกจึงสูญเสียธรรมชาติของความอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลอง อยากทำ ไปหมด ความผิดอยู่ที่เราค่ะ ไม่ได้เป็นปัญหาที่เด็ก) พออ่านเก่งแล้ว ก็เริ่มใส่ลูกเล่นเข้าไปได้ ตามแต่ความคิดสร้างสรรค์ของเราเอง หรือแม้แต่เราจะเอาชีวิตของเรา (ทุกคนมีชีวิตที่น่าตื่นเต้น สนุกสนานมากสำหรับเด็ก ๆ) มาแต่งนิทานเล่าให้ลูกฟัง เป็นการปลูกฝังความรักต่อบรรพบุรุษ และความกตัญญูรู้คุณไปด้วย

            เคล็ดลับที่สำคัญมากสำหรับการฝึกลูกให้ “รู้จักตนเอง และเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง” ก็คือ เราค่อย ๆ ให้เด็กซึมซับอย่างอิสระ สมองรับรู้ได้ดีมากถ้าหากมีอิสระ รักชอบและมีความสุข พ่อแม่จึงไม่ควรใช้วิธีสั่งสอน บังคับ หรือ ลงโทษ แต่ใช้วิธีชี้ชวนให้สนุกไปกับการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ฉบับก่อน ๆ ก็เคยยกตัวอย่างให้บ้างแล้ว เช่น ตื่นมาในวันหยุดสำหรับครอบครัวที่ชอบอ้างว่ายุ่ง อย่างน้อยในวันหยุดก็ควรมีเวลาเต็มที่ที่จะอยู่กับลูก ๆ จริง ๆ ไม่ใช่ลูกอยู่กับทีวี พ่อแม่ไปช้อปปิ้ง ตื่นแต่เช้าพาลูกลงมาเดินในสวน สนาม หรือรอบบ้าน ให้สำรวจสังเกตสิ่งรอบตัวว่า ลูกเห็นสีอะไรบ้าง รูปร่างอะไรบ้าง (เป็นการปลูกฝังพื้นฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างง่ายที่สุด) ได้กลิ่นอะไร ผิวหนังรับความรู้สึกอะไร ได้ยินเสียงอะไรที่ไม่ใช่เสียงรถ เครื่องจักร หรือเสียงคน ลองสงบ ๆ และฟังเสียงในธรรมชาติ (ที่ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้าง) และให้ลูกจินตนาการไปด้วย แล้วพาเข้าบ้าน ให้ลูกมาวาดรูปให้เราดูว่า ลูกได้รับรู้อะไร เกิดความคิดอะไร โดยให้สื่อสารกับเราผ่านภาพวาด ควรใช้สีเทียนจะง่ายสำหรับเด็กเล็กค่ะ

ฉบับหน้าขอต่อเรื่อง การปลูกฝังความเข้าใจตนเอง เชื่อมโยงไปถึงเรื่อง ความเข้าใจต่อระบบสังคม เราควรจะต้องให้ลูกรู้จักความขัดแย้งในสังคมอย่างไร เพื่อโตขึ้นเขาจะมีความเครียดน้อย และ รู้จักที่จะเลือกว่าควรทำอย่างไร


“........ของฝากเล็ก ๆ วันนี้ เรื่องการคัดเลือกนิทานสำหรับเด็กเล็ก ควรตระหนักถึงข้อจำกัดในความสามารถของเด็กแต่ละวัย เช่น ถ้าเด็กยังเล็ก ความสามารถในการมองเห็น การโฟกัสภาพ การรับรู้สี ยังจำกัด แต่เด็ก ๆ จะเรียนรู้ได้เร็วมาก หนังสือที่ดีสำหรับเด็กเล็ก ก็ควรมีภาพขนาดใหญ่ สี

หลักคือ แม่สี ช่วงเล็กมาก ๆ มีข้อแนะนำให้ใช้สีดำ-ขาว เพื่อช่วยกระตุ้นสายตาเด็กให้โฟกัสภาพได้เร็ว แล้วมาใช้แม่สีเป็นหลัก คือ แดง น้ำเงิน เหลือง สด ๆ นะคะ สีอ่อนไม่เหมาะในการมองของเด็ก แต่ในภาพเราก็จะมีหลากสีอยู่แล้ว เลือกภาพสวย ๆ ถ้าอยากปลูกฝังให้ลูกรักความเป็นไทย ก็เลือกภาพวาดที่มีบริบทเป็นไทย เช่น ภาพกระท่อมในชนบท เด็กแต่งตัวแบบไทย ถ้าใช้นิทานภาพสัตว์ก็ควรเป็นสัตว์ที่เด็กคุ้นเคยได้ง่าย ถ้าเราสังเกตดูจะเห็นว่า นักวาดภาพนิทาน มักใช้ “หมี” เป็นตัวละคร คงเพราะเป็นสัตว์ที่มีขนปุกปุย น่ารัก และ ยังเดิน 2 ขาเหมือนคน ซึ่งเท่ากับบอกลูกเป็นนัยว่า เป็นตัวแทนของหนู และเด็ก ๆ ก็มักจะชอบ... อย่าลืมนะคะ อ่านหนังสือ เล่านิทานให้ลูกฟังอย่างน้อยวันละ 1-2 ชั่วโมง ความจริงอ่านได้ทั้งวัน เวลาลูกเล่นเหนื่อย ก็ให้มาฟังเราเล่านิทาน ถ้าเหนื่อยก็ให้หลับไปก่อน ตื่นมาก็อ่านนิทานให้ฟัง และไม่ควรให้ลูกเล็กดูทีวีนะคะ... “