เรื่องที่ 044 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (7) เรื่องที่ 044 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (7)
4274Visitors | [2018-01-01] 

จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย(7)

 

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (7)

            ฉบับที่แล้วค้างคุณพ่อคุณแม่ไว้ เรื่องการฝึกให้ลูกฉลาดที่จะรู้จักตนเอง และเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่งต่าง ๆ โดยเน้นที่การที่ผู้ใหญ่ใช้นิทานและการอ่านหนังสือ เป็นเครื่องมือที่จะแนะนำให้ลูกของเรารู้จักโลกภายนอกทีละเล็กละน้อย ฉบับนี้ ขอทบทวนความจำของคุณพ่อคุณแม่สักหน่อย ถ้าได้เคยอ่านบทความในเดือนก่อน ๆ เราเคยพูดกันเรื่องสอนภาษาให้ลูก วันนี้กลับมาทวนกันอีกทีนะคะ

            ต้องไม่ลืมว่า เด็ก ๆ เรียนรู้จากสิ่งรอบตัวไปทีละเล็กละน้อย แต่ละเวลานาทีที่มีประสบการณ์อยู่ในโลกนี้ก็จะค่อยๆ ซึมซับความเข้าใจ ต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในท้องคุณแม่เลยค่ะ เพราะแม้ว่าลูกจะยังไม่เข้าใจภาษาของคุณแม่ แต่ก็สามารถรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยเฉพาะผ่านความรู้สึกของคุณแม่ อาหารที่ทานเข้าไปเลี้ยงดูลูก หรือแม้แต่ถ้ารับสารพิษ เช่น คุณแม่สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า (รวมยาดองด้วยค่ะ) หรือ อาจได้รับพิษจากยาโดยรู้เท่าไม่ถึงกาล ทุกอย่างจะผ่านไปถึงลูก มากน้อยต่างกัน เพราะรกก็จะเป็นที่กรองสารพิษได้พอประมาณ เพราะฉะนั้นระหว่างตั้งท้อง คุณแม่ไม่ควรสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า หรือกินยาอะไรพร่ำเพรื่อนะคะ ยิ่งสมัยนี้มียา “โฆษณา” มากมาย ทำให้คุณแม่ที่รู้ไม่เท่าทันก็อาจเชื่อตามคำโฆษณา ทานยาเข้าไป ทางที่ดีคือ ไม่ควรทานอะไรโดยไม่จำเป็น อาหารต้องให้ครบห้าหมู่ ทานพอดีๆ ถ้าหากคลื่นไส้อาเจียนเพราะแพ้ท้อง ก็เป็นสัญญาณว่า คุณแม่มีความเครียดอยู่พอประมาณ ต้องพยายามหาทางคลายเครียดอาการแพ้ท้องก็จะลดลงไป พอร่างกายปรับตัวได้แล้ว อาการก็จะดีขึ้น สังเกตว่าแม่ท้องอ่อนจะแพ้ท้องมากกว่า ในช่วงเวลาที่ลูกอยู่ในท้องคุณแม่ คือเวลาที่ ลูกกำลังสร้างต้นทุนสมองค่ะ คือ เนื้อสมองเกือบครบเท่าพวกเราเลย เพียงแต่เป็นเนื้อสมองที่ยังไม่มีวงจรเชื่อมโยง นั่นคือ ยังไม่ได้เรียนรู้อะไร ซึ่งหลังจากคลอดแล้ว เนื้อสมองเริ่มมีวงจรเชื่อมโยงระหว่างกันและกัน ยิ่งกระตุ้นมากขึ้น ด้วยการพูดคุย อ่านหนังสือ เล่านิทาน การสร้างวงจรในสมองก็ยิ่งมีมาก ลูกก็จะฉลาดตั้งแต่เล็ก ๆ ที่สำคัญ ห้ามดูทีวีค่ะ เพราะทีวีทำลายสมองส่วนคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ผู้ใหญ่เราบางทีเห็นเด็กเต้น ร้องเพลงตามทีวี คิดว่าลูกเก่งฉลาด เด็กเลียนแบบโดยไม่เรียนรู้ค่ะ เหมือนนกแก้วนกขุนทอง เวลาเราสอนพูด แต่นกไม่รู้ความหมายว่า คำที่พูดแปลว่าอะไร เด็กที่เลียนแบบทีวีก็เช่นเดียวกัน เพราะรายการทีวีไม่ได้กระตุ้นให้เราคิด ไม่ได้พูดโต้ตอบกับลูก ให้ดูฟังทำตามเฉย ๆ เอาไว้ลูกโตเข้ามัธยมแล้วค่อยดูทีวีก็ไม่เสียหายอะไร คุณพ่อคุณแม่ลองนั่งพิจารณาสำรวจรายการทีวีดูก็ได้ค่ะ ว่าแต่ละวัน ทีวีมีสาระอะไรให้เราพูดกับลูกได้บ้าง นอกจากละครน้ำเน่า (ฉากเดิม ๆ ตัวอิจฉากรี๊ดใส่พระเอก ตบด่านางเอก นี่หรือคะที่เราอยากให้ลูกเลียนแบบ)

            วันนี้ กลับมาคุยกับคุณแม่เรื่องทีวีอีก ก็เพราะยุคนี้น่าเป็นห่วงมาก ๆ สมองเด็กของเราถูกทำลายลงมากมายเพราะรายการทีวี เด็กทำตาม ร้องเพลงแบบไม่ชัดเราก็เห็นว่าน่ารัก เด็กก็คิดว่า เมื่อพ่อแม่ชอบ ก็ยิ่งทำมากขึ้น พอจะเข้าโรงเรียน ลูกยังพูดไม่ชัดเลย เพราะไม่มีใครฝึกสอนให้พูดชัดแบบนี้ เวลาเข้าโรงเรียน จะลำบากมาก ครูต้องกลับมาฝึกพูดให้ลูกเราใหม่ ซึ่งเลยวัยไปแล้ว

            ถ้าคุณพ่อ คุณแม่ อยากให้ลูกฉลาด เล่านิทาน อ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องนะคะ พอคลอดแล้ว เวลาให้ดื่มนมแม่ คุณแม่ก็มองหน้าลูกแล้วก็พูด จะสังเกตว่า ลูกจะเริ่มสนใจมองริมฝีปากคุณแม่ และขยับปากตาม นี่เป็นการวางฐานการเรียนรู้ภาษาที่สำคัญมาก ๆ ถ้าเราฝึกตั้งแต่เล็ก ๆ ลูกจะพูดได้เร็ว ตอนนี้เด็กไทยเราพูดช้ากว่าเด็กฝรั่งนะคะ โดยเฉลี่ย ฝรั่งพูดได้ประมาณ 8-9 เดือน ลูกคนไทยพูดอายุ 11-12 เดือน เราแพ้เขาหลายขุมเลยค่ะ เพราะมนุษย์เราเรียนรู้ด้วยภาษา เพราะฉะนั้นทั่วโลกจึงเน้นว่าต้องพัฒนาภาษาตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อวางฐานความฉลาด

            การสอนภาษาลูก คือ ทำให้ลูกเข้าใจสิ่งที่เราพูด สื่อสารกับเราได้ ถามไป ตอบกลับมาถูกเรื่อง คุณแม่ที่มีลูก สัก 2-3 ขวบ ลองถามลูกถึงสิ่งรอบตัว เช่น เริ่มจากร่างกาย มือขวาอยู่ที่ไหนลูก ถ้าลูกยกมือขวาขึ้นถูกต้อง ก็แปลว่าลูกเราเข้าใจ ถามบ่อย ๆค่ะ เพื่อให้แน่ใจว่า ลูกรู้จักคำต่าง ๆ ที่เราใช้พูดคุยกับลูกจริง ๆ จากเรื่องใกล้ตัวลูก ร่างกายของลูก เครื่องใช้ในบ้าน ผัก ผลไม้ อาหารที่เราทานกัน สีที่อยู่รอบ ๆ ตัว รูปร่างของสิ่งต่าง ๆ ถ้าแนะนำแล้วลูกเรียนรู้ได้ดี นี่คือ เรากำลังวางรากฐานวิชาการอื่น ๆ เช่น คณิตศาสตร์ เราไม่ไปตั้งความหวัง ผลักภาระ หรือ คิดว่า เป็นหน้าที่ของครูค่ะ เพราะกว่าครูจะสอนลูก ๆ ของเรา ก็ต้องอายุ 3-4 ขวบไปแล้ว จะมาตั้งต้นสอนเรื่องรอบ ๆ ตัวเด็ก ก็จะช้าไปมากเลยค่ะ

            สำหรับคุณแม่คุณพ่อ ที่พอจะมีความสามารถด้านภาษาอื่น ๆเช่น ภาษาจีน อังกฤษ ญี่ปุ่น อยากสอนให้ลูกเริ่มรู้จักภาษาเหล่านั้น ก็มีข้อแนะนำว่า ขอให้ลูกเข้าใจภาษาไทย ก็คือภาษาแม่ ให้ดีพอสมควรก่อน แล้วค่อยเริ่มสอนภาษาอื่น ก็ประมาณสักอายุ 3 ขวบก็เริ่มสอนภาษาที่สองได้แล้ว โดยเชื่อมโยงกับภาษาไทยที่ลูกรู้อยู่แล้ว ก็จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ถ้าเข้าใจว่า สมองเรียนวิธีไหน คุณพ่อคุณแม่สอนเองที่บ้านได้ตั้งแต่เล็ก ๆ ค่ะ


ลองทบทวนวิธีที่สมองของเราเรียนรู้ภาษา เช่น เด็กเล็กก็ไม่รู้จักคุณพ่อใช่ไหมคะ ถ้าคุณพ่อดูแลอุ้มชูลูกทุกวัน ลูกจะเริ่มจดจำ ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ความรัก เกิดเป็นวงจรการเรียนรู้อย่างน้อย 6 วงจรในสมองของลูก รวมผสมกันเข้า คุณพ่อ ก็ทำอีกวงจรหนึ่ง โดยบอกลูกบ่อย ๆว่า นี่คุณพ่อนะลูก ลูกก็จะผนวกเอาวงจรคำเรียก “คุณพ่อ” เข้าไปกับวงจรที่มีอยู่ พอเริ่มพูดได้ ก็จะสามารถเรียกคุณพ่อได้ และรับรู้ความหมายของคำว่า คุณพ่อ สัก ขวบครึ่ง ก็เริ่มให้ดูคำต่าง ๆ เช่น “พ่อ” เขียนใส่กระดาษตัวโต ๆ ให้ลูกดูแล้วก็ชี้ตัวเองว่า พ่อ อ่านให้ลูกดูฟัง ค่อยๆให้ลูกพูดตาม ลูกก็จะบันทึกวงจรคำว่า “พ่อ” เข้าไปผสมกับวงจรเดิม ทำแบบนี้กับคำต่าง ๆที่ลูกรู้จักอยู่แล้ว ลูกก็จะอ่านหนังสือได้อย่างรวดเร็วค่ะ เวลาเราสอนภาษาอื่น ๆ ก็ทำเช่นเดียวกัน ให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้ว ลูกก็จะเรียนได้ไม่ยากเลยค่ะ ... ทดลองดูสักหน่อย