เรื่องที่ 012 รู้เท่าทันอัมพฤกษ์อัมพาตอย่างไร โดย พญ.ประภาพร ปิยะบวรนันนท์ เรื่องที่ 012 รู้เท่าทันอัมพฤกษ์อัมพาตอย่างไร โดย พญ.ประภาพร ปิยะบวรนันนท์
9052Visitors | [2017-03-20] 

ความรู้เพื่อประชาชน

แพทย์หญิงประภาพร  ปิยะบวรนันนท์

แพทย์ประจำศูนย์ระบบประสาทและสมอง

โรงพยาบาลเปาโลพหลโยธิน


รู้เท่าทันอัมพฤกษ์อัมพาตอย่างไร

ปัจจุบันโรคอัมพฤกษ์อัมพาต (stroke ) ,CVA , Cerebrovascular accident คือ อาการผิดปกติที่เกิดจากสมองขาดเลือดเกิน 24 ชั่วโมง มักพบบ่อยในอายุมากกว่า 45 ปี , 95 %  ของผู้ป่วย

(2 ใน 3 ของผู้ป่วยอายุมากกว่า 65 ปี) พบในชายมากกว่าหญิง 1.5  เท่า

                โรคอัมพฤกษ์อัมพาตเป็นโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงและเรื้อรัง และยังอาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นตามมาอีกด้วย ถ้าหากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนตามมาหรือผู้ป่วยมีความพิการค่อนข้างมาก อาจจะพึ่งพาตนเองไม่ได้ และทำให้อยู่ในภาวะต้องพึ่งพาคนในครอบครัว ซึ่งจะกระทบเศรษฐานะของครอบครัว สาธารณสุข สังคม และประเทศชาติ

อัมพาตเกิดขึ้นได้อย่างไร

โรคอัมพฤกษ์อัมพาต เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดง  เกิดจาก 2 สาเหตุ คือ หลอดเลือดแดงอุดตันและเส้นเลือดแดงแตก

                หลอดเลือดแดงอุดตันเกิดจากหลอดเลือดแดงแข็ง ( atherosclerosis) สาเหตุจาก เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง บุหรี่ ลิ่มเลือดมาอุดตัน

                หลอดเลือดแดงในสมองแตก สาเหตุจาก ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดโป่งพอง  (aneurysm)

อาการของอัมพฤกษ์อัมพาตเป็นอย่างไร

เนื่องจากเป็นความผิดปกติของเส้นเลือดแดง  ดังนั้นอาการผิดปกติจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหรืออาการต่างๆจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน 

ลักษณะอาการที่บ่งว่าอาจจะมีความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง คือ ปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด กลืนลำบาก ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะ เดินเซ ตาเห็นภาพซ้อน แขนขาอ่อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะถ้ามีแขนขาอ่อนแรงเป็นลักษณะครึ่งซีกของร่างกาย หรือการชาเป็นลักษณะครึ่งซีกของร่างกาย  ตามัว

เมื่อมีอาการอัมพฤกษ์อัมพาต บ่งบอกว่ามีความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง ควรทำอย่างไร

หากมีอาการสงสัยอัมพฤกษ์อัมพาต ควรรีบไปโรงพยาบาลภายใน 3-4.5 ชั่วโมง เนื่องจาก ปัจจุบันมีการรักษาหลอดเลือดในสองตีบตันเฉียบพลันสมองขาดเลือด ด้วย  stroke fast track   โดยการให้ยา rtPA ในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้เพียงพอ เหมาะสมกับผู้ป่วยรายนั้นและไม่มีข้อห้ามในการให้ rtPA ผู้ป่วยและญาติยินยอมในการให้  rtPA  หลังจากทำการเอ็กเรย์คอมพิวเตอร์หรือ

แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยมาเกินเวลา 4.5 ชั่วโมง(ซึ่งนับระยะเวลาตั้งแต่ผู้ป่วยมีอาการ) หรือ ผู้ป่วยที่มีข้อห้ามในการให้ rtPA ไม่สามารถให้ rtPAได้ ก็จะมีการรักษาตามมาตรฐานอื่นๆ คือ การให้ยาต้านเกร็ดเลือด  การค้นหาสาเหตุของความผิดปกติที่ทำให้สมองขาดเลือด เช่นการตรวจเส้นเลือดสมองอย่างละเอียด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การทำอัลตร้าซาวด์หัวใจในบางกรณี

การรักษาและควบคุมโรคประจำตัวอื่นๆเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ

การทำกายภาพฟื้นฟูความผิดปกติหรือความพิการ ถ้าผู้ป่วยสูบบุหรี่ ต้องเลิกบุหรี่

                ในกรณีเส้นเลือดในสมองแตก มีเลือดออกในสมอง อาจจะต้องผ่าตัด ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้และดุลพินิจของแพทย์ผู้ดูแล

ทำอย่างไรให้ห่างไกลโรคอัมพฤกษ์อัมพาต

                การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากมีโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ ต้องควบคุมโรคประจำตัวเหล่านี้ให้ดี มาพบแพทย์ตามนัด และรับประทานยา ติดตามผลเลือดเป็นระยะอย่างสม่ำเสมอในความดูแลของแพทย์

                ในป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงเรื่องหลอดเลือดในสมองตีบตันมาก เช่น มีโรคประจำตัวหลายโรคแล้วควบคุมไม่ดี อาจจะต้องรับประทานยยาต้านเกร็ดเลือดตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อป้องกันเส้นเลือดในสมองตีบและแนะนำคนทั่วไปควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง