แพทย์สตรีตัวอย่าง2557 ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ แพทย์สตรีตัวอย่าง2557 ศ.เกียรติคุณแพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์
6889Visitors | [0000-00-00] 

แพทย์สตรีตัวอย่างประจำปี ๒๕๕๗

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์

ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยโภชนาการ
 
ชื่อ      ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง คุณสาคร  ธนมิตต์           
 
วัน  เดือน   ปีเกิด ๒๗  กุมภาพันธ์  ๒๔๗๓ 
 
สถานที่เกิด         กรุงเทพฯมหานคร
 
ตำแหน่งหน้าที่ปัจจุบัน    ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยโภชนาการ
 
สถานที่ทำงาน    สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล 
 
                        พุทธมณฑล ๔  ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ๗๓๑๗๐ 
 
                                   การศึกษา
 
                                             -                       ประถมศึกษาที่    ๑  -  ๔    โรงเรียนสามัคคีวิทยา
 
                                 มัธยมศึกษาปีที่    ๑  -  ๒    โรงเรียนศิลปากร นาฏศิลป์
 
พ.ศ.๒๔๙๐                มัธยมศึกษาปีที่    ๓  -  ๘   โรงเรียนสายปัญญา (สายวิทยาศาสตร์)
 
พ.ศ.๒๕๙๗               แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
 
พ.ศ.๒๕๕๐                สอบชิงทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา
 
พ.ศ.๒๕๐๒                Certificate in Biochemistry, Univ. of  Pennsylvania, USA          
 
พ.ศ.๒๕๐๓                Certificate in Pediatrics , Univ. of  Pennsylvania, USA
 
พ.ศ.๒๕๐๖                D.Sc. (Med),Univ. of  Pennsylvania, USA      
 
ชีวิตในเยาว์วัย
 
              ท่านอาจารย์สาคร เกิดที่กรุงเทพมหานคร ในครอบครัวใหญ่ มีพี่น้องร่วมสายโลหิตด้วยกัน ๑๒ คน โดยอาจารย์เป็นคนที่ ๙  บิดาเป็นคหบดี มีอาชีพค้าขาย ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ถนนราชดำเนินย่านผ่านฟ้า  อาจารย์เคยเล่าว่าเมื่อครั้งยังเด็กนั้น  เป็นเด็กที่ซุกซนและเรียนหนังสือไม่ดีจึงถูกส่งให้ไปรับการอบรมสั่งสอนจากคุณครูท่านหนึ่งที่บ้านสวนระยะเวลาในช่วงนี้นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ  เพราะเมื่อคุณแม่ซึ่งเป็นผู้ที่อาจารย์รักและเคารพเป็นอย่างยิ่งไปรับกลับมาอยู่ที่บ้านผ่านฟ้าอีกครั้งหนึ่ง อาจารย์ได้กลายเป็นผู้ที่มีความรู้แตกฉาน สามารถเรียนหนังสือได้ดีเยี่ยมนับจากนั้นมา
 
               จากการที่เคยผ่านโรงเรียนนาฏศิลป์มาช่วงหนึ่งในวัยเด็กแม้จะเป็นช่วงสั้นๆแต่อาจารย์จะเล่าถึงชีวิตในช่วงนี้เสมอ จนเห็นภาพอาจารย์รำละครอยู่บนเวทีโดยเฉพาะในเพลง “สู่ขวัญและพุทธคุณคุ้มไทย” ของหลวงวิจิตรวาทการ โดยรำเป็นเทวดา ต้องใส่ชฎาที่หนักมากและคอยที่จะหล่นอยู่ตลอดเวลาด้วย ช่วงนั้นอายุของ อาจารย์น้อยเกินไปที่จะเข้าศึกษาต่อในระบบปกติ คุณแม่จึงให้ฝึกเป็นนางรำระยะหนึ่งก่อน
 
              ความสุขอีกส่วนหนึ่งในวัยเด็กคือ การได้เล่นกับพี่น้องและญาติๆที่อยู่ในบริเวณบ้านเดียวกันโดยเล่นเป็นครูนักเรียน ซึ่งอาจารย์มักจะเล่นเป็นคุณครูเสมอ พอเบื่อแล้วก็จะไปกระโดดน้ำเล่นกันที่แม่น้ำเจ้าพระยา เพราะคุณพ่ออาจารย์ได้สร้างบ้านขึ้นอีกหลังหนึ่งติดแม่น้ำเจ้าพระยา   จนมาถึงปัจจุบันอาจารย์ยังคงว่ายน้ำเก่งเพราะความที่เคยเป็นลูกแม่น้ำมาก่อนนั่นเอง
 
              สำหรับการศึกษาในระดับมัธยมที่โรงเรียนสายปัญญาอาจารย์มีความประทับใจทั้งในความเป็นครูและความเป็นเพื่อน ได้เห็นแบบอย่างของความเป็นครูจากอาจารย์ของโรงเรียนนี้หลายท่าน อาทิเช่นอาจารย์ยุพิน กุสุมาลย์ทัต อาจารย์กรองกาญจน์ สิทธิแพทย์ อาจารย์จามรี ผลชีวัน อาจารย์เรณู สูตะบุตร และอาจารย์ ม.ล.ดวงแข เลขะยานนท์ เป็นต้น นอกจากนั้นอาจารย์ยังมีเพื่อนสนิทหลายคนซึ่งก็ยังคงเป็นเพื่อนกันมาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ไม่ว่าครั้งใดที่อาจารย์ได้รับรางวัลสำคัญ ๆเพื่อนๆ ของอาจารย์จะยังมาร่วมกันแสดงความยินดีกับอาจารย์เสมอสำหรับเพื่อนสายปัญญาที่ร่วมทุกข์สุขกันมากเป็นพิเศษได้แก่ ม.ร.ว.ถนอมพันธุ์ ทวีวงศ์และคุณศรีสว่าง พั่ววงศ์แพทย์ เพื่อนจึงนับเป็นปัจจัยที่ ๕ ของชีวิตของท่านอาจารย์สาคร 
 
ประวัติการทำงาน
 
  ปี    พ.ศ.                  ตำแหน่ง                                                  สถานที่
 
      ๒๔๙๘-๒๕๐๘      นายแพทย์โท                                  กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
 
      ๒๕๑๑-๒๕๑๓       อาจารย์เอก                                      ภาควิชากุมารเวชศาสตร์  คณะแพทยศาตร์
 
                                                                                          โรงพยาบาลรามาธิบดี
 
      ๒๕๑๓-๒๕๓๐       ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย                         ศูนย์วิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
 
      ๒๕๓๑-๒๕๓๔       ผู้อำนวยการ                                     สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
       ๒๕๓๔-ปัจจุบัน     ที่ปรึกษาอาวุโส                                 สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
 
        ๒๕๔๘-๒๕๕๑    กรรมการบริหารแผนคณะที่ ๒           สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
 
                                                                                          แผนควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ           
 
       ๒๕๔๙-ปัจจุบัน      คณะอนุกรรมการวิชาการ                สถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้
 
                                                                                         (ส.ส.อ.น)
 
       ๒๕๔๙-๒๕๕๑    ประธานกรรมการอำนวยการ             สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)   แผนงานพัฒนาศักยภาพเครือข่าย  เพื่อการขับเคลื่อน  
 
                                                                                        (ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาหารและโภชนาการ)
 
๒๕๓๔-๒๕๕๐            ที่ปรึกษา                                       สำนักงานโครงการในพระราชดำริฯ ของสมเด็จพระเทพ
 
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
๒๕๕๖-ปัจจุบัน           ประธานมูลนิธิมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพ
 
รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
 
ผลงานที่สำคัญ
 
หลังจากได้โอนย้ายจากกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นอาจารย์แพทย์คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  ได้ปฏิบัติงานโภชนาการและกุมารเวชศาสตร์  ทำงานด้านการสอนและการวิจัย และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของศูนย์วิจัยของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ต่อมาได้ร่วมกับศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี   ก่อตั้งสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเป็นผู้อำนวยการสถาบัน คนที่ ๒   ต่อจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อารี วัลยะเสวี (พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๓) และตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ - ปัจจุบัน ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ   ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ได้บุกเบิกงานด้านอาหารและโภชนาการในประเทศไทย โดยอุทิศตนเพื่อการพัฒนาภาวะโภชนาการของคนไทย โดยเฉพาะเด็กๆ อย่างต่อเนื่องเสมอมาตั้งแต่ พุทธศักราช 2511 จนกระทั่งปัจจุบัน จนทำให้โรคขาดสารอาหารชนิดรุนแรงหมดไปจากประเทศไทยเหลือเพียงการขาดสารอาหารชนิดซ่อนเร้น ซึ่งเป็นการขาดสารอาหารในปริมาณน้อยที่ไม่แสดงอาการแต่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต   หลังจากเกษียณอายุราชการในปี ๒๕๓๓  ยังได้ปฏิบัติงานต่อมาอีกดังนี้
 
 
 
๑.      วุฒิอาสาธนาคารสมอง 
 
โครงการธนาคารสมอง ก่อกำเนิดขึ้นจากพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๓ ที่ทรงเห็นว่าผู้เกษียณอายุหลากหลายสาขา เป็นบุคคลที่เปี่ยมด้วยความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ที่สั่งสมมานาน และมีกำลังกายและจิตใจที่มุ่งมั่นทำงานพัฒนาต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทรงเรียกผู้ที่แสดงความจำนงมาช่วยงานนี้ว่า “วุฒิอาสา” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ได้แสดงความจำนงในการเป็นวุฒิอาสาและได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าคณะทำงานด้านข้อมูลอาหารและโภชนาการ ในวุฒิอาสาธนาคารสมองกลุ่มสุขภาพ โดยเมื่อเป็นวุฒิอาสาได้ดำเนินกิจกรรม ด้านอาหารและโภชนาการต่างดังนี้
 
· โครงการสร้างเด็กไทยให้เต็มศักยภาพด้วยอาหารและโภชนาการ  ดำเนินการนี้ในปี ๒๕๔๖ เพื่อพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนด้านอาหารและโภชนาการในรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การสัมมนาวิชาการเรื่อง คุณภาพและความปลอดภัยของอาหารในสถานศึกษา ให้กับอาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครองและผู้ประกอบการอาหาร เกิดการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านอาหารและโภชนาการอย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึงโดยเฉพาะในถิ่นทุรกันดาร   จัดทำหนังสือธนาคารสมองเพื่อสุขภาพ  และหนังสือสร้างเด็กไทยให้เต็มศักยภาพด้วยอาหารและโภชนาการ  เพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์
 
· โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนไทยให้ยั่งยืน ได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานโภชนาการและสุขาภิบาลในโรงเรียน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามประเมินผลและชี้ทิศทางการพัฒนาทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น เพื่อสร้างพฤติกรรมการบริโภคที่เหมาะสมของเด็กและเยาวชนโดยเริ่มในโรงเรียนใน ๔ ภูมิภาค ในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น นครนายก สงขลา นครปฐม กรุงเทพและในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๓ มีโรงเรียนนำร่อง ๙๗ แห่ง การดำเนินโครงการดังกล่าวสามารถช่วยพัฒนาภาวะโภชนาการของนักเรียนจำนวน ๑๐๙,๕๓๖  คน ซึ่งในการดำเนินโครงการต่างๆนั้น ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ได้ร่วมวางแผนโครงการกับหัวหน้าโครงการแต่ละพื้นที่ ติดตาม  และติดตามนิเทศงาน และให้คำปรึกษา ในพื้นที่โดยตลอด และขณะนี้ยังดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง  
 
 
๒. ที่ปรึกษาในโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์  ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้เป็นที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในโครงการต่างๆ คือ
 
· โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
 
       เป็นโครงการที่สมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงต้องการให้นักเรียนในพื้นที่ทุรกันดารและห่างไกลมีอาหารกินตามหลักสุขภาพพื้นฐาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ได้สนองเบื้องพระยุคลบาทด้วยการให้คำแนะนำและติดตามผลการดำเนินงานโครงการ
 
· โครงการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำหรับเด็กวัยก่อนเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน  
 
       รับดูแลเด็กอายุ ๒.๕-๔  ปี เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง โดยผู้ดูแลเด็กในศูนย์จะต้องผ่านการอบรมเลี้ยงดูเด็กเล็กทั้งด้านอาหารโภชนาการ และการจัดกิจกรรมต่างๆ เสริมการเรียนรู้พัฒนาตนทั้งร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร  ธนมิตต์  เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำและติดตามประเมินภาวะโภชนาการเด็กในศูนย์ ฯ
 
· โครงการลดภาวะทุพโภชนาการเด็กอายุ ๐-๖๐  เดือน จังหวัดนราธิวาส
 
เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารในเด็กแรกเกิดถึง ๕ ขวบ ซึ่งพบปัญหาการขาดสารอาหารถึง ๓๗% ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ และคณะจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ดำเนินการแก้ไข  จนทำให้การขาดสารอาหารลดลงเหลือ ๒๒ % ภายใน ๑๘ เดือน และต่อมาโครงการดังกล่าวได้ขยายไปยังจังหวัดปัตตานี และยะลา
 
· โครงการส่งเสริมกิจกรรมของโรงเรียนเลี้ยงเด็กกำพร้าแขวงเวียงจันทน์
 
         สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมสุขภาพ สร้างเสริมผลผลิต เพิ่มพูนความรู้ และปรับปรุงคุณภาพอาหารให้กับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เริ่มโครงการเมื่อ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๔  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ ได้ร่วมเป็นวิทยากร ตรวจวัดภาวะโภชนาการเด็ก ติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน
 
· โครงการความร่วมมือกับสหภาพพม่า (เมียนม่าร์)
 
        เริ่มโครงการเมื่อปี ๒๕๓๘ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นพัฒนาเด็ก ทั้งด้านการศึกษาและโภชนาการ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ เป็นนักวิชาการที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาให้เดินทางไปติดตามให้คำปรึกษาการดำเนินงานแก่โรงเรียนในสหภาพพม่า ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการจนกระทั่งปัจจุบัน
 
 
๓.   ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการโครงการเด็กกินอิ่ม เรายิ้มได้ สังคมเป็นสุข
 
            ดำเนินการในจังหวัดศรีสะเกษ ระหว่างปี ๒๕๔๕-๒๕๔๙ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมทรัพยากรทั้งภายในและภายนอกจังหวัดศรีสะเกษ ในการพัฒนาศักยภาพของจังหวัดอย่างยั่งยืนด้วยการลงทุนเพื่อเด็ก  โดยเน้นการพัฒนาอาหารและโภชนาการเป็นพื้นฐาน   ด้วยรูปแบบบูรณาการและหลักการพึ่งตนเอง   จากการดำเนินโครงการนี้ทำให้ หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมร่วมแรงร่วมใจพัฒนาอาหารและโภชนาการเด็กและเยาวชน พบว่าร้อยละ ๘๔ ของโรงเรียนสามารถพัฒนาให้เด็กได้กินอิ่มทุกคนทุกวันที่มาโรงเรียน เด็กนักเรียนเกิดการเรียนรู้การพัฒนาอาหารในโรงเรียนต้นแบบหลักสูตรท้องถิ่นจำนวน ๑๓๗โรงเรียน และสามารถขยายพื้นที่ ครอบคลุมทั้งจังหวัดจำนวน ๒๐๔ ตำบล มีส่วนทำให้องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ๑๑๘ แห่งให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อสร้างแหล่งอาหารกลางวันในโรงเรียน  ซึ่งขณะนี้มีจังหวัดอื่นๆที่ สนใจนำโครงการนี้ไปเป็นต้นแบบในการพัฒนาภาวะโภชนาการของเด็กนักเรียนในจังหวัดตน  
 
            นับว่าศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร  ธนมิตต์  เป็นแบบอย่างที่ดีและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานด้านอาหารและโภชนาการของชาติอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่อดีตจนกระทั่งปัจจุบัน  ซึ่งถือเป็นการปูพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนางานต่างๆ จนเกิดสัมฤทธิผล ทั้งนี้สืบเนื่องจากศักยภาพด้านวิชาการ ลักษณะนิสัยที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้ร่วมงานและลูกน้อง ตลอดจนความทุ่มเท เสียสละ ทั้งเวลา กำลังกาย กำลังใจให้กับงานต่างๆ ที่รับผิดชอบของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณสาคร ธนมิตต์ นั่นเอง
 
 
เกียรติและรางวัลที่ได้รับ
 
· พ.ศ.๒๕๑๙  ได้รับรางวัลผลงานวิจัยยอดเยี่ยมจากสภาวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับศาสตราจารย์ นายแพทย์
 
     อารี วัลยะเสวี และคณะฯ จากผลงานวิจัยเรื่องโรคนิ่วในกระเพาะปัสสาวะในประเทศไทย
 
· พ.ศ.๒๕๓๐  ได้รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี ๒๕๒๙-๒๕๓๐  จากสภาคณาจารย์
 
      มหาวิทยาลัยมหิดล
 
· พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาโภชนศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล
 
· พ.ศ.๒๕๓๓  ได้รับรางวัล Premio Adelaide Ristori จากศูนย์วัฒนธรรม ประเทศอิตาลี
 
· พ.ศ.๒๕๔๓  ได้รับรางวัลมหิดลทยากร  จากสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยมหิดล
 
· พ.ศ.๒๕๔๖   ได้รับรางวัลนักเรียนทุนรัฐบาลไทยดีเด่น ประจำปี ๒๕๔๕  จากสำนักงาน ก.พ.
 
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับพระราชทาน
 
๑.  พ.ศ.๒๕๓๐   ประถมาภรณ์ช้างเผือก  (ป.ช.)
 
๒.  พ.ศ.๒๕๓๒   มหาวชิรมงกุฎ  (ม.ว.ม.)
 
๓.  พ.ศ.๒๕๓๙  เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
 
๔.  พ.ศ.๒๕๔๗  จตุตถจุลจอมเกล้า
 
 
 คติประจำใจในการทำงาน
 
“ชีวิตนิ้เพื่องาน งานนี้เพื่อธรรม”และใช้ความรู้คู่คุณธรรม ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง คุณ สาคร ธนมิตต์ใช้ปฏิบัติงานโดยถือหลักปฎิบัติตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
 
“ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัว      เปนที่สอง
 
ประโยชน์ของเพื่อนมนุษ               เปนกิจที่หนึ่ง
 
ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ               จะตกมาแก่ท่านเอง
 
ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพย์        ไว้ให้บริสุทธิ”