|
7547Visitors | [2016-01-13]
บ๊ายบาย ขวดนม ช้าไปโรคภัยตามมา (จากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง วันอาทิตย์ ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558)
โดย รศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร
ลูกโตแล้วไม่ยอมเลิกดูดนมจากขวด นอนหลับคาขวด ดูดนมมื้อดึก เป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตา คล้ายขวดนมเป็นสัญลักษณ์ของเด็กไทย
รศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ในนามสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่านมสำหรับทารกและเด็กเล็กที่ดีที่สุดคือนมแม่ ดังนั้นภาชนะใส่นมที่เหมาะกับเด็กมากที่สุดคือเต้านมแม่ สองเต้าของแม่คือ แหล่งอาหาร ที่มีผลเหมือนมรดกสุขภาพ ที่มีแต่แม่เท่านั้นที่ให้ได้ ไม่เพียงแต่นำสุขภาพกายที่แข็งแรง ยังนำความมั่นใจ ความสุขใจ และการได้รับโอกาสการพัฒนาสมองที่ดีกว่าแก่ลูก ที่ไม่มีใครให้แทนได้ เด็กแรกเกิดทุกคนควรได้กินนมแม่ตั้งแต่แรกเกิด ย้ำว่าต้องอย่างเดียวและแต่แรกเกิด ไม่ใช้นมอื่นใด กินอย่างเดียวต่อเนื่องจนอายุ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงให้กินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัย ไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่า
น้ำนมไม่มา ลูกไม่ยอมดูด แม่ต้องกินยา แม่ไม่สบาย จะให้นมแม่อย่างไร ปัจจุบันมีที่ปรึกษาได้หลากหลาย เช่น คลินิกนมแม่ใน รพ. ของกระทรวงสาธารณสุขและ รพ.เอกชนหลายแห่งใน social media เลือกกลุ่มที่น่าไว้วางใจ ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับทารกและเด็กป่วยสอบถาม 1415 สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ยินดีให้คำปรึกษาและแนะนำแหล่งปรึกษาในโรงพยาบาลใกล้บ้านให้ได้
ทารกและเด็ก จริงๆ ไม่ต้องใช้ขวดนมเลยก็ได้ เหมือนสมัยโบราณ จะใช้แก้ว ถ้วย ช้อนป้อน การมีขวดนม ช่วยอำนวยความสะดวกให้ทารกและเด็กที่ต้องกินนมอื่นๆ สะดวก กินได้ทุกท่า บางครั้งแม่ให้นมจากเต้าไม่ได้ก็อาศัยใส่ขวด ปัญหากับการใช้ขวดนมคือการดูดนมหลับคาขวด ซึ่งจะทำให้ชิน โตแล้วฟันขึ้น (หลังอายุ 6 เดือน) และการยังคงดูดนมมื้อดึก ส่งผลให้สุขภาพฟันเสีย และดูดนมติดใจ สบายดี ดูดนมมาก ก็นำโรคอ้วน ไม่ยอมกินข้าวกินแต่นม และที่พบได้บ่อย คือ การนำน้ำหวาน หรือแม้แต่น้ำอัดลมให้ดูด
“บ๊ายบาย ขวดนม ช้าไปโรคภัยตามมา” เป็นโครงการกรมการแพทย์สู่ประชาชน ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้ริเริ่มจัดทำ และเปิดตัวโครงการครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน 2550 โดยหน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม ต่อมาสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ได้เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน รณรงค์เรื่องนี้ผ่านการประชุมในโอกาสต่างๆ ข้อมูลการศึกษา เด็กๆ วัย 3 ปี มีฟันผุประมาณ 80% เด็กไม่ยอมกินข้าว กินแต่นม บางรายก็ติดใจดูดนมจากขวด กินแต่นมจนอ้วนปี๋ เรื่องเหล่านี้ขวดนมมีส่วนเกี่ยวอยู่มาก อัตราการดูดนมจากขวด และการดูดนมมื้อดึก ในเด็กที่มารับบริการคลินิกสุขภาพเด็กดี
เมื่อถึงวัยน่าจะเลิกดูดนมจากขวด คือ ตั้งแต่อายุ 1 ปี เด็กๆ ที่มาตรวจที่สถาบันฯ จำนวนมาก ยังมีการดูดนมจากขวด อายุ 1-2 ปีเด็กยังคงดูดนมจากขวด 92% และยังคงดูดนมมื้อดึก 70% อายุ 2-3 ปี เด็กยังคงดูดนมจากขวด 70% และยังคงดูดนมมื้อดึก 50% อายุ 3-4 ปี เด็กยังคงดูดนมจากขวด 42% และยังคงดูดนมมื้อดึก 37% จะเห็นว่าเด็กโตแล้วก็ยังใช้ขวดนมกันมาก เด็กอายุ 2-3 ปียังดูดนมจากขวด 70% อายุ 3-4 ปี เกือบครึ่งยังมีการดูดนมจากขวด สูงสุดที่พบคือ อายุ 8 ปี และก็ยังพบพฤติกรรม นอนหลับคาขวดนมและนมมื้อดึก เหล่านี้เป็นรากของปัญหาเด็กฟันผุ เด็กไม่ยอมกินข้าว กินนมมากไปจนเป็นโรคอ้วน และเสียโอกาสพัฒนา
เทคนิคการเลิกดื่มนมจากขวดมาดื่มจากแก้วหรือกล่องแทน จะต้องเริ่มจากการเตรียมตัวจัดการเรื่องกินให้เหมาะสม เช่น ฝึกให้ลูกกินกลางวัน นอนกลางคืน และค่อยๆ เลิกนมมื้อดึก รวมทั้งให้ดื่มนมหรือน้ำจากแก้วแทน ที่สำคัญคือควรให้กำลังใจและคำชมเชยเมื่อลูกทำได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ก็ควรที่จะต้องตั้งใจจริงและแข็งใจทิ้งขวดนมไปเลย
“เด็กส่วนมากถ้าเกิดได้รับการฝึกที่ดีจะสามารถเลิกได้ โดยในต่างประเทศมีเด็กอายุ 6 เดือนที่เลิกกินนมกลางคืนได้ถึง 80% ขณะที่บ้านเราเด็กสามารถทำให้ 20% เท่านั้น”
ในต่างประเทศแนะนำให้เด็กเลิกใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปี สำหรับประเทศไทยก็มีทั้งที่เห็นว่าควรเลิกเมื่อ 1 ปี หรือ 1 ½ ปี หรือแม้แต่ 2 ปี การศึกษาของสถาบันฯ ร่วมกับการปรึกษากับเครือข่ายหน่วยงานเกี่ยวกับเด็ก พบว่าคำแนะนำควรยืดหยุ่นเวลาลงบ้าง เพราะการเตรียมตัวเด็กเล็กเรายังไม่ค่อยดี โดยคำแนะนำว่าเด็กๆ ควรเลิกใช้ขวดนมเมื่ออายุ 1 ปี ถ้ายังไม่ได้ ควรเลิกไม่เกินอายุ 1 ½ ปี ไม่ใช่เลิกกินนม แต่กินนมใส่แก้วใส่กล่องดีกว่า”
โครงการบ๊ายบาย ขวดนม ช้าไปโรคภัยตามมา ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ สสส.ผลิตสื่อ เพื่อช่วยพ่อแม่ผู้เลี้ยงดูจัดการเรื่องนี้ มีทั้งหนังสือสำหรับบุคลากรและสำหรับประชาชน สื่อ VCD สื่อ Spot วิทยุ สื่อ Spot TV บรรจุใน VCD ดาวน์โหลดได้ที่ www.childrenhospital.go.th หรือที่ website: www.tmwa.or.th สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย