เรื่องที่ 016 เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์ โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ จิตแพทย์ เรื่องที่ 016 เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์ โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์ จิตแพทย์
7038Visitors | [2017-05-04] 

 

เมื่อใดที่ควรไปพบจิตแพทย์

โดย แพทย์หญิง ขจรวรรณ เชาวนกระแสสินธุ์  จิตแพทย์


           ในสมัย 30-40 ปีก่อนผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ มักเป็นผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น หูแว่ว ประสาทหลอน ซึมเศร้ารุนแรง ในยุคนั้นความรู้ความเข้าใจในโรคจิตเวชยังไม่แพร่หลาย ทำให้ความเข้าใจและทัศนคติต่อผู้ป่วยจิตเวชไม่ดีนัก คนกลุ่มหนึ่งจึงฝังใจและต่อต้านการมาพบจิตแพทย์ เพราะกลัวว่าตนเองจะถูกมองว่าบ้าหรือผิดปกติ และกลัวเป็นที่รังเกียจต่อสังคม

            แต่ในปัจจุบันเมื่อวิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้าขึ้น รวมถึงประชาชนได้รับความรู้และเข้าใจในโรคทางจิตเวช ทำให้คนยอมรับและเปิดใจในการมาพบจิตแพทย์มากขึ้น  ไม่จำเพาะแต่ความเจ็บป่วยทางจิตเวชเท่านั้น บางครั้งคนมาปรึกษาจิตแพทย์เนื่องจากต้องการปรึกษาปัญหาการใช้ชีวิตทั่วไป

แต่ก่อนที่จะมาพบจิตแพทย์ ปัญหาแรกเริ่มของคนโดยทั่วไปที่มักคิดก่อนไปพบจิตแพทย์ คือ อาการตนเองขณะนี้ต้องไปพบจิตแพทย์หรือไม่ และการรักษาของจิตแพทย์จะเป็นอย่างไร

อาการหรือปัญหาที่ควรมาพบจิตแพทย์ได้แก่

1.     มีความรู้สึกว่าตนเอง  มีความรู้สึกและอาการที่ผิดปกติ เช่น รู้สึกแย่ต่อตนเอง รู้สึกว่าสังคมและโลกไม่น่าอยู่  จนทำให้เบื่อหน่ายท้อแท้ และแยกตัวจากสังคม

2.    มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติ เช่น เศร้า โกรธเกรี้ยว หงุดหงิด หรือร่าเริงผิดปกติ

3.    พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป เช่น เก็บตัว แยกตัว มีความคิดหรือความเชื่อที่ไม่สมเหตุสมผล

4.    มีการใช้สารเสพติดที่ผิดกฎหมาย หรือการดื่มสุราที่มากเกินปกติจนติดหรือก่อให้เกิดปัญหา

5.    ปัญหาความสัมพันธ์ เช่น ปัญหาชีวิตคู่ ปัญหาการเรียน ปัญหาการปรับตัวแต่ละช่วงวัย

6.    ไม่สามารถดำรงชีวิตเป็นปกติได้ เช่นไม่สามารถทำงานหรือไปเรียนได้เหมือนเดิม

การรักษาของจิตแพทย์ประกอบด้วยอะไรบ้าง

การรักษาของจิตแพทย์ ประกอบด้วย

1.    การตรวจอาการ การตรวจกับจิตแพทย์จะแตกต่างจากแพทย์ทั่วไป คือไม่มีอุปกรณ์การตรวจ เช่น หูฟัง ไฟฉาย การตรวจของจิตแพทย์ทำโดยการพูดคุย สร้างความสัมพันธ์ สอบถามอาการเพื่อนำไปสู่ปัญหาหรือการวินิจฉัยโรค อาจจะมีชุดคำถามเพื่อตรวจสภาพจิตในรายที่แพทย์เห็นว่าจำเป็น

2.    การวินิจฉัยโรค การวินิจฉัยโรคทางจิตเวช จิตแพทย์ทั่วโลกทำเป็นมาตรฐานเดียวกัน คือ อ้างอิงการวินิจฉัยโรคแบบ DSM5 หรือ ICD10 ทำให้การวินิจฉัยผู้ป่วยและการรักษามีมาตราฐานใกล้เคียงกันและทำให้สามารถสื่อสารในการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยได้และมีความเข้าใจที่ตรงกัน

3.    การรักษาโดยยา  ไม่จำเป็นที่ทุกครั้งที่ผู้ป่วยที่มาพบจิตแพทย์ จะต้องได้รับยากลับไป  ยาเป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งในการรักษาซึ่งแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม ในผู้ป่วยบางรายไม่จำเป็นต้องรักษาโดยการรับประทานยา เช่น ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติที่มีสาเหตุชัดเจนและอาการไม่รุนแรง  ในบางครั้งการรักษาโดยยา  เป็นการพิจารณาร่วมกันของผู้ป่วยและแพทย์ถึงความเหมาะสมและความจำเป็น แต่อย่างไรก็ตามมีโรคทางจิตเวชหลายโรคซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทและยามีบทบาทสำคัญในการรักษา

4.    การรักษาโดยการทำจิตบำบัด การรักษาโดยการทำจิตบำบัดมีหลากหลายแขนง  การทำจิตบำบัดที่แพร่หลายในประเทศไทย เช่น การทำจิตบำบัดแบบประคับประคอง การทำจิตบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การทำจิตบำบัดครอบครัว การทำจิตบำบัดแบบกลุ่ม การที่แพทย์จะเลือกการทำจิตบำบัดชนิดใด ขึ้นอยู่กับลักษณะของผู้ป่วย ปัญหาที่มาปรึกษา และความถนัดของจิตแพทย์แต่ละท่าน

5.    การทดสอบทางจิตเวชเพิ่มเติม   บางครั้งจิตแพทย์ทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา ในการส่งตรวจสภาพจิตเพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยและการรักษา รวมถึงเป็นหลักฐานอ้างอิงประกอบการวินิจฉัยเพื่อทำนิติกรรมบางอย่าง เช่น การตรวจสภาพจิตและภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เพื่อประกอบการทำพินัยกรรม