|
5535Visitors | [2017-11-19]
จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (3)
พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (3)
จะขอคุยกันเพิ่มเติมเรื่องความฉลาดทางภาษา ฉบับที่แล้ว ได้แนะนำคุณแม่คุณพ่อให้เข้าใจวิธีการพัฒนาความฉลาดด้านภาษาตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ และเมื่อโตขึ้นและลูกพูดและเข้าใจภาษาพอสมควรแล้ว เราสามารถใช้กิจกรรมอื่น ๆ ช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาเพิ่มขึ้น และ ยังทำให้ผู้ใหญ่เข้าใจวิธีคิดของลูกว่าเป็นอย่างไร อย่าลืมว่า ถ้าลูกเล็ก แม้จะพูดได้แล้ว แต่การที่เด็กจะสื่อสารให้เราเข้าใจสิ่งที่ลูกคิด ยังเป็นเรื่องยากมากทั้งสองฝ่าย ลูกจะพูดให้เราเข้าใจว่าเขาคิดอะไร รู้สึกอย่างไรก็ยาก ในอีกทางหนึ่ง พ่อแม่ก็อาจไม่เข้าใจสิ่งที่ลูกพูดทั้งหมด ด้วยข้อจำกัดของการใช้คำของเด็ก วิธีที่ดีมากที่จะใช้กับลูกเล็กโดยเฉพาะในช่วง 6 ปีแรก ขอเสนอให้คุณพ่อคุณแม่ฝึกใช้ “ศิลปะ” กับลูก ในการถ่ายทอดความคิดของลูกให้เราเข้าใจ ที่ดีที่สุดคงจะเป็นการวาดภาพ “ศิลปะ” ไม่ใช่เรื่องของอัจฉริยภาพของศิลปิน สำหรับการเรียนรู้ เราถือว่า “ศิลปะ” เป็นกระบวนการที่เด็กเรียนรู้และถ่ายทอดความคิดต่าง ๆ ออกมา ลองดูว่า เราจะใช้ ศิลปะการวาดภาพ ช่วยลูกพัฒนาภาษาได้อย่างไร
อันดับแรกเลย ขอให้เริ่มต้นจากการที่คุณแม่คุณพ่อ ต้องฝึกสังเกตลูกนะคะ อย่าได้ละเลยหรือ “คิดเอาเอง” ว่าเข้าใจในสิ่งที่ลูกพูด การคิดเอาเองเป็นจุดเริ่มต้นของการตอบสนองลูกที่อาจผิดพลาดได้ง่าย ๆ ตรวจสอบให้แน่ใจด้วยการตั้งคำถามหรือพูดคุยเล่นกันสนุก ๆ กับลูกว่า ลูกเข้าใจคำศัพท์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เริ่มตั้งแต่ รู้จักพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา หรือไม่ อวัยวะในร่างกายของคนเรา สัตว์เลี้ยงหรือสัตว์ที่อยู่ในบริเวณบ้านของเรา ต้นไม้ต่าง ๆ ของใช้ส่วนตัว เครื่องครัว ส่วนประกอบของบ้าน ลองนับเล่น ๆ ดูก็ได้ค่ะว่า สิ่งรอบตัวที่ลูก ๆ ควรจะรู้จัก และสื่อสารกับเราได้ “ถูกต้อง” หมายความว่า เรากับลูกเข้าใจในสิ่งเดียวกัน ตรวจสอบได้ไม่ยาก ถ้าอยู่รอบ ๆ ตัว ก็ให้ลูกชี้ให้ดูว่า อันนี้เรียกว่าอะไร อันนั้นเรียกว่าอะไร เอาไว้ทำอะไร ลูกจะใช้อย่างไร เช่นใช้ช้อนทำอะไร จะถูตัวเวลาอาบน้ำด้วยอะไร ฯลฯ เพียงสิ่งรอบตัวเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ ก็สามารถคิดเกมสนุก ๆ เล่นกับลูกได้ไม่เบื่อเลยนะคะ วางแผนสักหน่อย คุณพ่ออาจเป็นนักวางแผนในที่ทำงานมาแล้ว ก็ลองเอามาใช้ที่บ้านหน่อยเป็นไร คุณพ่อคุณแม่จะรู้สึกสนุกไปกับลูกได้ไม่ยากเลย
ถ้าลูกสื่อสารกับเราได้ถูกต้องถึงสิ่งที่อยู่ในบ้าน มองเห็น จับต้องได้รอบ ๆ ตัวแล้ว คราวนี้เราจะขยายการเรียนรู้ “ภาษา” และทำความเข้าใจออกไปสู่สิ่งที่อยู่ไกลตัวสักหน่อย เช่น ถ้าอยากจะรู้ว่า ลูกเรารู้จักคำว่า “ตึก” ตรงกับที่เราเข้าใจหรือที่สังคมเข้าใจไหม ถ้าจะให้ลูกอธิบายคำว่า ตึก ให้เราฟัง ก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับเด็กเล็ก ลองใช้วิธีเล่นกับลูกว่า “วันนี้เรามาสนุกด้วยการวาดรูปด้วยกัน ลูกจ๋า รู้จักตึกไหมคะ ถ้ารู้จัก ไหนลูกลองวาดรูปตึกให้แม่หรือพ่อดูหน่อยสิ อยากรู้จังว่า ตึกของลูกหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วเดี๋ยวแม่กับพ่อจะเขียนรูปตึกของเราให้ลูกดู ...” ให้ลูกใช้สีเทียน เพราะแท่งใหญ่เหมาะกับนิ้วของเด็ก และเวลาวาดจะง่ายกว่าสีน้ำหรือสีดินสอนะคะ แล้วยังแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ดี ให้เวลาลูก เราก็วาดของเรา ให้ลูกวาดอย่างอิสระ อย่าลืมว่า ศิลปะนี้ไม่ใช่เพื่อประกวดว่าใครสวย วาดได้ดีกว่ากัน แต่เป็นเครื่องมือที่สมองเด็ก ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพ และตรวจสอบกลับไปที่สมองเด็กอีกครั้งว่า เข้าใจถูกต้องตรงกันหรือไม่ ถ้าสมมติว่า ลูกวาดรูปตึกออกมาเป็นกระท่อมมุงจาก เราก็จะต้องตรวจสอบว่า ลูกเคยเห็นตึกไหม รู้จักตึกไหม ถ้าลูกไม่เคยเห็นไม่เคยมีประสบการณ์ก็เป็นการยากที่ลูกจะวาดออกมาได้ เมื่อทราบว่าลูกไม่รู้จัก คราวนี้ก็ง่ายสำหรับเราที่จะช่วยทำให้ลูกรู้จัก .. หรืออาจจะใช้รูปตึกที่เราวาดและอธิบายให้ลูกเข้าใจในเบื้องต้นก่อนที่จะพาไปดูของจริงก็ได้ค่ะ .. จากภาพที่ลูกวาดและเราวาด ก็เอามานั่งคุยกันต่อได้เลยถึงเรื่องตึก ขยายไปถึงวิธีการสร้างตึก ใครบ้างที่มีส่วนในการทำให้ตึกมันสูงและสวยงาม ให้เด็กรู้จักคุณค่าของแรงงาน ไม่ดูถูกคนใช้แรงงาน แล้วก็ไปเรื่องอื่น ๆ เช่นการใช้ประโยชน์ของตึก อันตรายที่จะเกิดในตึก หรือเกิดขึ้นระหว่างการสร้างตึก ฯลฯ โอ๊ย สารพัดที่จะคุยกัน ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความสามารถในการเล่านิทาน หรือถ้าชอบอ่านหนังสือก็เอามาปรับเล่าให้ลูกฟังโดยใช้ภาพวาดของลูก ... คุณก็จะช่วยขยายความฉลาดทางภาษาของลูกออกไปอย่างมากมายมหาศาลทีเดียวค่ะ ... ใช้กิจกรรมเหล่านี้ ไม่ยากและใกล้ตัว ทดแทนการที่พ่อแม่ลูกไปนั่งกันอยู่หน้าจอทีวีเถอะนะคะ
ของฝากวันนี้ คุณแม่คุณพ่อช่วยพัฒนาภาษาให้ลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง และตั้งแต่หลังคลอดได้เลย คัดเลือกหนังสือนิทาน เรื่องเล่าที่คุณพ่อคุณแม่ประทับใจ นำมาอ่านให้ลูกฟังวันละ 1 เรื่อง เช่น ถ้าประทับใจนิทานอิสป หรือ สมัยนี้อาจชอบแฮรี่ พอร์ตเตอร์ ก็มาอ่านให้ฟัง ทำเสียงเล็กเสียงน้อยไปด้วย ทอดจังหวะ กระตุ้นเร่งเร้าเป็นระยะ ๆ เสียงสูงต่ำ จะช่วยพัฒนาการได้ยิน และวางฐานการเข้าใจรับรู้ภาษาให้ลูก ๆ ได้เร็วขึ้นค่ะ