เรื่องที่ 041 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (4) เรื่องที่ 041 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (4)
5512Visitors | [2017-11-26] 

จากสมองสู่สมอง …... ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (4)

 

พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (4)

ก่อนจะคุยกันเรื่องความฉลาดด้านอื่น ๆ ต่อ ฉบับนี้ ขออนุญาตคั่นรายการเล่าเรื่องเด็กน้อยน่ารัก หลานของป้าคนหนึ่งที่มาปรึกษาดิฉันเรื่องที่ ลูกเบื่อและไม่อยากไปโรงเรียน เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับพ่อแม่และคุณครู ในช่วงที่กำลังจะจบภาคการศึกษาและ คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากกำลังจะหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูก หรือ ครูจะต้องเตรียมรับเด็กใหม่ ๆ ... เพื่อให้ง่าย ๆ ขอเรียกหลานคนนี้ว่า น้องแมนค่ะ

          “..... แม่ครับ หนูเบื่อโรงเรียนจังเลย ตอนอยู่กับเพื่อนก็สนุกดีครับ เล่นกันสนุกมาก หนูชอบมาก แต่เวลาเข้าห้องเรียนทีไร หนูเบื่อจัง คุณครูให้ทำอะไรก็ไม่รู้ หนูทำเป็นหมดแล้ว เช่น ให้หนูเขียนต่อจุดตามตัวอักษร .... พอหนูไม่ทำตามคุณครู คุณครูก็ดุ และบอกว่า หนูเป็นเด็กมีปัญหา...  หนูไม่เข้าใจจริง ๆ ครับ ....”

ดิฉันไปเยี่ยมน้องแมนที่น่ารักคนนี้ที่บ้านด้วยเวลาสั้น ๆ ซึ่งคุณแม่และคุณป้าของเขาได้บอกน้องแมนไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะมี “เพื่อนป้าหมอ” มาเยี่ยม น้องแมนเตรียมตัวอย่างดี คุณแม่และคุณป้าๆ เล่าให้ฟังว่า น้องแมนอ่านหนังสือเองได้ทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ อ้อ ... ตอนนี้เพิ่งอายุ 5 ขวบ เรียนอยู่อนุบาล 2 สอบได้ A เกือบทุกวิชา (ถ้าตั้งใจทำ) ตอนกำลังคุยกัน น้องแมนเอาสมุดรายงานมาให้ดู ได้ A จริง ๆ ด้วย และคุณแม่ก็ขนหนังสือที่บ้านมาให้ดู บอกว่า น้องแมนชอบอ่านหนังสือมาก ๆ คุณแม่ก็เลยเอาไว้ใช้เป็นเงื่อนไข เวลาอยากให้ลูกทำตามที่สอน ก็ต้องบอกว่าถ้าไม่ทำตามแม่บอก จะไม่ให้อ่านหนังสือ ซึ่งน้องแมนก็จะทำตามทุกครั้ง คุณผู้อ่านคงพอนึกภาพออกว่า ที่โรงเรียนอนุบาลเขาสอนอะไรเด็ก ๆ บ้าง ... คุณแม่และคุณป้าได้พยายามไปอธิบายให้คุณครูที่โรงเรียนว่า น้องแมน ทำอะไรได้บ้าง เมื่ออยู่ที่บ้าน น้องสามารถอ่านหนังสือ และเปิดพจนานุกรมภาษาอังกฤษเพื่อค้นหาคำที่ไม่รู้จักได้เอง (หลังจากคุณป้า ไม่ค่อยมีเวลามาอธิบายให้ฟัง ก็เลยซื้อ Dictionary Oxford มาให้หลานแทน) แต่คุณครูก็ยังคงทำเหมือนเดิม และ บอกว่า น้องแมน เป็นเด็กมีปัญหา ทำไมถึงไม่ยอมเรียนตามที่คุณครูสอน ....

            เมื่อดิฉันได้สังเกตและประเมินเบื้องต้น ก็พบว่า สติปัญญาและความสามารถของ น้องแมน น่าจะอยู่ประมาณประถมปีที่ 2-3 สามารถอ่านคำศัพท์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษได้ด้วยตนเอง โดยคุณแม่บอกว่า เริ่มจากที่คุณแม่เปิดภาพและอ่านให้ฟังพร้อมๆ กันตั้งแต่ยังเล็ก พอสักระยะหนึ่ง น้องแมน เริ่มจำได้ด้วยตนเอง และเริ่มอ่านคำใหม่ ๆ เองโดยไม่ต้องสอน แต่ถ้าติดขัด ก็จะมาถามคุณแม่หรือคุณป้า น้องแมน ชอบอ่านหนังสือวิทยาศาสตร์มาก ๆ และชอบที่จะทดลองเลียนแบบทำตามการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง และถ้าให้อ่านหนังสือที่ชอบ ก็จะอ่านอยู่เป็นวัน ๆ ไม่ยอมทำอะไร

            คุณแม่ และป้า ๆ ก็วิตกกังวลว่า น้องแมนควรจะอยู่ในโรงเรียนเดิมต่อไปหรือไม่ ควรจะย้ายไปโรงเรียนที่เขาเข้าใจเรื่องเด็กที่แตกต่างกับคนอื่น ดิฉันก็เลยซักถาม น้องแมน ถึงเพื่อน ๆ ในห้องเรียน ก็ได้ความว่า มีเพื่อนหลายสิบคนและชอบที่จะเล่นกับเพื่อน ๆ มาก เวลาเล่นก็มีความสุข แต่จุดที่คุณแม่เป็นห่วงก็เลย น้องไม่ค่อยกล้าแสดงออก เวลาพบคนแปลกหน้าก็จะอาย และเวลาครูถามก็จะไม่ค่อยตอบ ซึ่งคุณแม่ก็กลัวว่า น้องจะมีปัญหาด้านพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์

             ....นี่เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ซึ่งสะท้อนภาพ “ปัญหาของผู้ใหญ่” โดยเฉพาะขาดความเข้าใจถึงความแตกต่างของพัฒนาการของสมองเด็ก ประเทศไทยเราคงมีเด็กแบบนี้ค่อนข้างมากทีเดียว (ตามสถิติทั่วโลก จะมีเด็กความสามารถพิเศษ อาจถึงขั้นเด็กอัจฉริยะ ประมาณ 1 ต่อแสนคน ถ้าเทียบกับจำนวนเด็กของเราก็อาจประมาณว่า เราน่าจะมีเด็กความสามารถพิเศษเป็นแสนคน) ซึ่งเมื่อเข้าโรงเรียนถูกทำให้กลายเป็นเด็กมีปัญหา จนถึงขั้นบางครั้ง ถูกครูว่า “โง่” เพราะไม่ทำตามที่ครูสอน อย่าง น้องแมน ที่อ่านหนังสือได้เท่า ๆ กับเด็กประถมแล้ว แต่คุณครูยังคงสอนให้อ่าน ก ไก่ ข ไข่ หรือ A B C D … แม้แต่เมื่อผู้ปกครองได้พยายามไปอธิบายให้ฟังก็ละเลยไม่สนใจ

ปัญหานี้ แก้ไขไม่ยากนัก ถ้าผู้ใหญ่ทั้งหลายที่เกี่ยวข้องกับโรงเรียน การจัดการศึกษา โดย เฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ ช่วยได้มาก ก็น่าเห็นใจคุณครูเพราะจะต้องดูแลเด็กห้องละหลายสิบคน และด้วยการขาดทักษะในการทำความเข้าใจความแตกต่างของเด็กแต่ละคน และด้วยระบบการศึกษาที่ตกทอดกันมานาน ที่จัดการเรียนการสอนกันแบบ Mass Production ก็คือ เหมือนเราผลิตสินค้าในโรงงาน มีมาตรฐานเดียวกันหมด ผลิตออกมาแล้วก็ไปเข้าทำงานเป็นสาวเป็นหนุ่มโรงงาน ทำได้เท่าที่เขาสอนมา คิดมากกว่านั้นไม่ได้ เพราะไม่เคยสอนให้คิด เวลาเด็กมีความคิดของตนเอง หรือถามมากหน่อย ครูก็มักจะไม่พอใจ อาจเพราะคำถามของเด็ก ๆ ที่สมองมีอิสระนั้น อาจจะตอบยาก เพราะเต็มไปด้วยจินตนาการ (ซึ่งคล้าย ๆ กับที่ไอสไตน์ จินตนาการถึงการที่ตนเองเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเท่าแสง แล้วออกไปในจักรวาล สุดท้ายจะไปอยู่ที่ไหน.... จนกระทั่งค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพ กลายเป็นบิดาของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่) เด็กไม่ได้ถามตามตำราที่ครูเรียนมา และครูไม่เคยถูกฝึกให้จัดการเรียนรู้ให้ตอบสนองความแตกต่างของเด็กแต่ละกลุ่ม ... ก็หวังว่าคนที่เกี่ยวข้องจะหันมาทำความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ และ มีความเชื่อมั่นต่อ “พลังสมองที่เป็นอิสระ” ของเด็ก ๆ

ทุกท่านคงอยากรู้ว่า ดิฉันให้คำแนะนำอะไรกับครอบครัวนี้ ...ก็ไม่ยากอะไรค่ะ ก็แนะนำให้ น้องแมน ยังคงเรียนที่โรงเรียนเดิมจนจบอนุบาล เพราะน้องแมนก็ยังคงเหมือนเด็ก 5 ขวบอื่น ๆ ที่ต้องการ “เพื่อนวัยเดียวกัน” ที่จะเล่นสนุกตามประสาเด็ก และการอยู่กับเพื่อน (แม้จะมีระดับสมองต่างกันในบางเรื่อง) ก็จะช่วยให้น้องแมนเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสังคม ช่วยให้กล้าแสดงออกและยอมรับคนอื่นที่แตกต่างจากที่บ้าน ถ้าให้ย้ายโรงเรียนตอนนี้ ก็จะต้องไปปรับตัวใหม่อีก สำหรับความสามารถของน้อง ทางบ้านช่วยเสริมได้ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้อ่านหนังสือ แต่ควรให้อ่านวรรณกรรม และนิทานของเด็ก ๆ บ้าง นอกเหนือจาก โดเรมอน ที่น้องแมนชอบ เพื่อน้องแมนจะได้โอกาสซึมซับสิ่งดีงามจากนิทานดี ๆ โดยเฉพาะนิทานอิสป หรือ วรรณกรรมดี ๆ ของไทย


ฉบับนี้ คงเป็นของฝากของคุณครู ... สำหรับการพัฒนาสมองผ่านการเคลื่อนไหวหรือการเล่น ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ปัจจุบัน มีแนวโน้มที่โรงเรียนจะให้เวลากับการเคลื่อนไหวของเด็กน้อยลง ขอแนะนำให้จัดกิจกรรม (ควรมีทุกวัน) การเคลื่อนไหวอิสระ ไปพร้อมเสียงดนตรีที่แตกต่างกัน ช้าบ้าง เร็วบ้าง โดยให้เด็กเคลื่อนไหวไปตามจินตนาการของเด็ก อาจใช้วิธีให้เด็กจับคู่ทำตามกัน ดูสิว่า ใครจะสร้างสรรค์ท่าทางตามเสียงเพลงได้แตกต่างกัน ... คุณครูจะแปลกใจมากว่า เด็ก ๆ มีความสามารถในการแสดงออก (ซึ่งเราอาจจัดเป็นศิลปะจากดนตรี) อย่างสร้างสรรค์มากกว่าผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ เด็ก ๆ จะสนุกมาก และจะเป็นช่วงเวลาที่สมองได้ ทดสอบการเคลื่อนไหวของร่างกาย การเข้าใจมิติต่าง ๆ รวมไปถึงความเร็ว ความเร่ง ... ลองดูนะคะ