|
6408Visitors | [2017-12-09]
จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (5)
โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ
วันนี้เรามาคุยกันเรื่องของเล่นดีไหมคะ
สังคมบริโภคนิยม (ทุนนิยม) ได้ทำให้วิถีการเลี้ยงดูเด็กของเราเปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว ลองนึกภาพสมัยเรายังเด็ก ๆ คุณพ่อคุณแม่แม้ว่าจะต้องทำงานตัวเป็นเกลียว แต่เมื่อเสร็จภารกิจก็จะมาเล่นกับลูก ๆ หรือไม่ก็ต้องทำงานบ้าน ก็มักจะเรียกและควบคุมให้เราช่วยทำงานบ้าน เกือบทุกคนเคยถูกไม้เรียวมาแล้วทั้งนั้น และพวกเราก็คุ้นเคยกับการฝึกทำงานกันตั้งแต่เด็ก ๆ เริ่มด้วยถ้าคุณแม่มีลูกถี่หน่อย ก็จะต้องช่วยดูแลน้องเล็ก (ก็อาจจะช่วยลดความรู้สึกอิจฉาน้องลงได้บ้าง เพราะเรามีหน้าที่ดูแลน้องด้วย) เวลาที่อยากจะเล่นสนุกก็มักจะถูกเรียกใช้ให้ถูบ้าน ทำกับข้าว ล้างจาน ฯ ถ้าเป็นชาวนาชาวไร่ ก็ต้องไปช่วยไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ตั้งแต่เล็ก ๆ นาน ๆ ทีจึงจะได้ไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน หรือพ่อแม่พาไปเที่ยวดูหนังนอกบ้าน เรายังไม่มีทีวีในบ้าน เพราะฉะนั้น ผู้ใหญ่ก็มีเวลาที่จะดูแลและปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ๆมากกว่าปัจจุบัน ด้วยประสบการณ์ที่คุ้นเคยกับการฝึกทำงานแต่เด็ก เราจะเห็นว่า คนรุ่นเราทำงานเก่งกว่าเด็กสมัยนี้ แต่ใช้เงินไม่เก่งเท่าเด็กยุคนี้
ลองหันมาดูวิธีเลี้ยงดูของพ่อแม่ยุคใหม่ พฤติกรรมที่คล้ายกันมากไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบท ก็คือ พ่อแม่ใช้วิธีการซื้อของเล่นเป็นการแสดงความรักกับลูก เริ่มตั้งแต่เล็ก ๆ ก็เริ่มด้วยการซื้อขนมให้ทาน (ส่วนใหญ่เป็นขนมที่ทำลายสุขภาพด้วยซ้ำ เช่น ขนมกรุบกรอบ) แทนการที่ผู้ใหญ่ในบ้านทำขนมกันเอง โดยธรรมชาติ ขนมที่เราทำเองในบ้านย่อมจะดีกว่า เช่น ถ้าเราทำขนมใส่กะทิ ก็ต้องซื้อมะพร้าวมาคั้นกะทิ หรือถ้าเราทำขนมทอด ๆ ก็มักจะใช้น้ำมันใหม่ แต่ขนมที่เราซื้อสำเร็จมา เขาทำอย่างไร เราไม่ทราบ ส่วนใหญ่มักจะใส่สารปรุงรส ปรุงกลิ่น มากเกินความจำเป็น เราจึงเห็นเด็กยุคใหม่นี้ติดรสชาติกันมาก ทานเค็ม ทานหวานกันจนเป็นโรคอ้วนทั้งเด็กในเมืองและชนบท
ต่อจากการซื้อขนม ก็เริ่มซื้อของเล่น ถ้าเป็นคนจนสักหน่อย ก็มักไปตลาดนัดซื้อของเล่นราคาถูก (ส่วนใหญ่เป็นของเล่นทำจากพลาสติกราคาถูก ๆ เช่น ดาบ ปืน พลาสติก) แทนการทำของเล่นกันเองในบ้าน เมื่อก่อน ผู้ใหญ่จะไปขุดดินเหนียวมาปั้นวัว ปั้นควาย เอาก้านมะพร้าวมาทำ ม้าก้านกล้วยให้เราขี่เล่น เราใบจาก ใบมะพร้าว มาสานเป็นของเล่น ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีความปลอดภัย ที่สำคัญไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อ ผู้ใหญ่ลงแรง ลงความคิด และเด็ก ๆก็ชอบเพราะภูมิใจที่พ่อแม่ทำของเล่นให้ สมัยนี้เด็ก ๆมักรบเร้าขอของเล่นโดยขอให้พ่อแม่ ไปซื้อที่ศูนย์การค้า หรือ ตลาดนัด เด็ก ๆ ของเราก็เลยพัฒนาความเป็นคน “ช่างขอ” ตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ขอโน่น ขอนี่ไม่หยุดหย่อน พ่อแม่ก็ต้องทำงานกันมากขึ้นให้ได้เงินทองมาซื้อของต่าง ๆ ให้ลูก ไม่รวมถึงความอยากของพ่อแม่เอง ที่ต้องมีทีวี วิดิโอ ซีดี รถมอเตอร์ไซด์ บ้านนอกเดี๋ยวนี้มีตู้เย็น เครื่องซักผ้า กันแล้ว ทั้งที่แต่ก่อนเราก็ซักผ้าด้วยมือ ใช้ผงซักฟอกช่วยนิดหน่อย แต่เดี๋ยวนี้ซักผ้าด้วยมือไม่ได้แล้ว เมื่อซักผ้าด้วยเครื่อง ก็ต้องใช้น้ำยาซักผ้าด้วยเครื่อง อะไร ๆ ก็แพงตามกันมา ไม่นับค่าไฟ ค่าน้ำที่เพิ่มขึ้น เพราะซักผ้าด้วยเครื่องใช้น้ำเปลืองกว่ามืออยู่แล้ว
สิ่งเหล่านี้ได้ปลูกฝังทัศนคติให้กับเด็ก ๆ ของเราให้ชื่นชม และ คุ้นเคยกับสังคมบริโภคนิยม ถ้าเรากลับมาตั้งสติกันให้ดี ทบทวนว่าอะไรที่เราซื้อ มันมีความจำเป็นต่อชีวิตของเราและของลูก ๆ จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงทำตามกระแสสังคม เราก็จะต้องตกหล่มไปกับการบริโภค และเป็นหนี้เป็นสิน เพื่อซื้อไอ้โน่นซื้อไอ้นี่ให้เหมือนๆ เพื่อนบ้าน หรือ ที่ดูจากโฆษณาในทีวี เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์ที่เราเห็นเมื่อราคายางสูงขึ้น ราคาพืชผลเกษตรสูงขึ้น พ่อแม่ขายพืชผลได้เงินมากขึ้น ก็คือ ลูก ๆ วัยรุ่นขี่มอเตอร์ไซด์โฉบเฉี่ยวในหมู่บ้าน จนเกิดอุบัติเหตุถึงบาดเจ็บ พิการ บางคนก็ตายไปก่อนวัยอันควร วิธีเลี้ยงดูลูกของเรา ได้คร่าชีวิตและทำลายชีวิตของเด็ก ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย
หันกลับมาคุยกันเรื่องของเล่น อยากจะขอให้พิจารณาตัวเราเอง เวลาเราจะซื้อของเล่นให้ลูก เราคำนึงถึงอะไรกันบ้าง จึงจะขอแนะนำหลักการสำคัญ ๆ ดังนี้ค่ะ
1. ความปลอดภัย โดยเฉพาะสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เด็กจะซน หยิบของเข้าปากอยู่เรื่อย เพราะเขาต้องการทดลองชิมดูว่ามันเป็นอย่างไร เป็นธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นต้องตรวจสอบดูว่า ของเล่นที่เราจะให้ลูกนี้ มีส่วนประกอบชิ้นเล็ก ๆ ที่หลุดเข้าคอ ติดจมูกได้หรือเปล่า มีอะไรที่เป็นเหลี่ยมคมที่จะบาดผิวเด็กไหม สีที่ใช้เป็นสีที่ปลอดภัยสำหรับเด็กหรือไม่ เพราะเราจะห้ามเด็กอมหรือกัดได้ยาก
2. เหมาะกับอายุของเด็กหรือไม่ โดยทั่วไป ถ้าเป็นของเล่นที่มีคุณภาพ ก็จะระบุอายุว่าเหมาะกับเด็กอายุเท่าไร แต่ถ้าเป็นของเล่นพลาสติกราคาถูก ขอแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กเล็กเล่น ถ้าให้ดี ทำของเล่นกันเองจะดีกว่า เช่น ใช้ผ้าขนหนูที่ขาดแล้ว มามัดทำเป็นตุ๊กตาให้ลูกเล่น ระหว่างทำก็สนุกไปกับลูกด้วย
3. ของเล่นกระตุ้นพัฒนาการอะไรบ้าง เช่น อยากให้ลูกพัฒนาภาษาได้เร็ว ต้องซื้อหนังสืออ่านให้ลูกฟัง เปิดภาพอ่านไปพร้อมกัน ได้ตั้งแต่แรกเกิดเลยค่ะ หนังสือดี ๆ ราคาอาจจะแพงสักหน่อย แต่ก็ดีกว่าของเล่นทุกชนิดเลย เพราะกระตุ้นความฉลาดของลูกผ่านการอ่านและเล่านิทานได้ตั้งแต่เล็ก จนโตเลยค่ะ หลาย ๆ คนไม่คิดว่า หนังสือคือของเล่น ทำให้เรามักจำกัดการซื้อของเล่นเพียงแต่ ตุ๊กตา รถจำลอง ตัวต่อ โมบาย ฯลฯ และมักคิดว่า หนังสือค่อยซื้อให้ตอนโตหน่อย ที่จริงแล้ว เราต้องให้เด็กคุ้นเคยกับหนังสือในฐานะที่เป็นของเล่นอย่างหนึ่ง คือ เห็นเมื่อไรสนุกเมื่อนั้น อยากอ่าน อยากเล่นเมื่อนั้น สมัยนี้มีหนังสือหลากหลายแบบที่ทำให้เด็กชอบและสนุกไปด้วย เช่น หนังสือ pop-up หนังสือที่แทรกวัสดุต่าง ๆ ให้เด็กเล่นไปด้วยได้ เช่นมีหุ่นนิ้วให้เล่น บางเล่มยังมีเสียงออกมาด้วย หรือหนังสือทำจากพลาสติคคุณภาพดีนุ่มนิ่มเอาไว้อ่านและเล่นเวลาอาบน้ำ ฯลฯ เพราะฉะนั้น ขอให้บรรจุหนังสือไว้เป็นของเล่นของลูกได้ตั้งแต่เกิด
คุณแม่ที่ชอบถักไหมพรม เวลาท่านซื้อไหมพรมมา ลองชวนลูกเล็ก มาฝึกม้วนไหมพรมให้เป็นก้อนกลม เพื่อสะดวกกับการใช้ ขณะเดียวกันเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ลูกด้วย ก้อนไหมพรมกลม ๆ ยังใช้แทนลูกบอล ไว้ให้ลูกกลิ้งเล่น เพียงแต่เก็บชายไหมพรมให้มิดชิดปลอดภัย ไม่หลุดลุ่ย ถ้าม้วนจนเป็นก้อนแข็ง ให้ลูกขยำเล่นได้ ก็ฝึกกล้ามเนื้อมือได้ดี ไม่ต้องซื้อของเล่นที่แพง ๆ ให้ลูก เราทำเองได้ค่ะ