เรื่องที่ 045 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (8) เรื่องที่ 045 จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (8)
4953Visitors | [2018-01-08] 

"เด็กทุกคนเกิดมากับความ “อยากรู้ อยากสัมผัส อยากทดลอง” และสมองเป็นเครื่องมือสำคัญของมนุษย์"


จากสมองสู่สมอง ชุดฝึกความฉลาด ฝึกความฉลาดด้าน “ธรรม” ให้ลูกน้อย (8)

 

โดย พญ.จันทร์เพ็ญ ชูประภาวรรณ


ฝึกความฉลาดทุกด้านให้ลูกน้อย (8)

ขอทบทวนกันสักนิดว่า สมองมนุษย์มีวิวัฒนาการมานานแสนนาน กว่าจะเป็นสมองแบบทุกวันนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอย ๆ ส่วนของสมองหลายส่วนจึงเป็นมรดกตกทอดมาจากสมองของสิ่งมีชีวิตหลายระดับ ส่วนของสมองที่แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือ “สมองส่วนบน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมองส่วนหน้า” ซึ่งมีความสามารถมากในการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงช่วงประถมปลาย เด็กทุกคนเกิดมากับความ “อยากรู้ อยากสัมผัส อยากทดลอง” และสมองเป็นเครื่องมือสำคัญของมนุษย์ในเรื่องนี้ หน้าที่สำคัญของผู้ใหญ่ก็คือ การจัดประสบการณ์ บรรยากาศ และส่งเสริมให้เด็กได้มีประสบการณ์ตรงผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น ร่างกาย และความรู้สึกภายใน) เพื่อให้เด็กสะสมความรู้จนเกิด ความเข้าใจต่อสิ่งรอบตัวเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการดำเนินชีวิตในวัยต่อ ๆ มา ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ผู้ใหญ่ต้องตระหนักว่า เด็ก ๆ เรียนรู้จากพวกเราโดยดูแบบอย่างหรือพฤติกรรมที่เราทำจริง ๆ มากกว่าการที่พูดปาวๆ สั่งสอน 

และข้อที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ สมองจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีอิสระในการทดลอง ฝึกหัดปฏิบัติ ได้รับการตอบสนองได้อย่างอิสระพอสมควร การตีกรอบการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ เช่น “อย่านะลูก” “เธอ..สนใจเรื่องนี้ก็พอ” ที่สำคัญคือ “การทำโทษ”  เหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เกิดความอึดอัดคับข้องใจกับสมองเด็กอย่างมาก และจะเป็นการส่งสัญญาณไปยังสมองของเด็กให้เกิดกระบวนการตัดวงจรความอยากรู้อยากเห็น ซึ่งเท่ากับเป็นการบั่นทอนสติปัญญาของเด็กโดยเราไม่รู้ตัว หากเราเข้าใจการเรียนรู้ของสมองของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ไม่มีแนวคิดเรื่อง “ค่านิยม” “ความถูกผิด” บนมาตรฐานของผู้ใหญ่ แต่สมองเด็กจะกระตุ้นให้เด็กพยายามทดลอง ทำนั่นทำนี่ หยิบสิ่งนั้นสิ่งนี้มาแกะมาทุบ ก็เพราะอยากรู้ว่ามีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งผู้ใหญ่ตีความว่าเป็นการ “ทำลายข้าวของ” และมักจะดุว่าลงโทษเด็ก วิธีที่ดีสำหรับผู้ใหญ่ก็คือ จัดหาสิ่งของ (ที่ไม่ใช้แล้ว หรือ จำลอง หรือ สิ่งของในธรรมชาติ) ต่าง ๆ มาให้เด็กค้นหาทดลอง โดยดูแลเรื่องความปลอดภัย และนั่งอยู่ข้าง ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เด็กค้นหา และช่วยแนะนำทำความเข้าใจ บรรยากาศเช่นนี้จะทำให้ลูกหลานของเรา มีความสุขในการเรียนรู้ และ ใช้สมองได้อย่างเต็มความสามารถ ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นทีละขั้น ทีละขั้นแบบมั่นคงและยั่งยืน

            ... การให้อิสระต่อการพัฒนาสมองเด็กไปตามธรรมชาตินั้น คือ ก้าวแรกของการพัฒนาสติปัญญา และเป็นการวางรากฐาน “ประชาธิปไตย” ที่สำคัญยิ่งไปจนโต เพราะการให้อิสระกับสมอง คือ จริยธรรมพื้นฐานของการเคารพ “เด็ก” ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ... และนั่นคือ ทางออกต่อการปลดวิกฤติของประเทศที่พวกเรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

 

หลักการฝึกความฉลาดให้ลูกพัฒนาสมองส่วนบนและสมองส่วนหน้า ในวัยเด็กเล็กที่สำคัญยิ่งก็คือ เปิดโอกาสและกระตุ้น ส่งเสริม ชี้ชวน และร่วมทำความรู้จักเรื่องรอบตัว เริ่มจากรู้จักตัวเอง ธรรมชาติรอบตัว ในแต่ละด้านเป็นดังนี้

1.      ฝึกความฉลาดด้านการเคลื่อนไหวร่างกายซึ่งเป็นเบื้องต้นของการพัฒนาสมอง สมองเด็กจะพัฒนาความสามารถในการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อก่อน สังเกตได้จากเด็กขวบปีแรก จะฝึกฝนตั้งแต่ “ชันคอ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน วิ่ง” ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ เมื่อเริ่มทำได้ดีพอควรแล้ว ต่อมาก็จะฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ การใช้นิ้วมือหยิบจับสิ่งของเล็ก ๆ กล้ามเนื้อใบหน้าในการฝึกพูด ซึ่งทั้งหมดนี้ ผู้ใหญ่รอบตัวจะต้องช่วยทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะการฝึกพูดของเด็กไทย ในปัจจุบันถือว่าช้ากว่าอายุอันควรมาก เพราะผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่า การพูดต้องมีคนทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เด็กจะเฝ้าสังเกตวิธีการใช้ริมฝีปาก ลิ้น ฟัน ในการเปล่งคำพูด เพราะถ้านั้นต้องฝึกตั้งแต่เล็ก ๆ อย่าปล่อยให้เป็นไปเอง โดยขาดการดูแล ถ้าไม่ฝึกเด็กจะพูดช้ากว่าอายุอันควร ซึ่งจะส่งผลไปถึงการพัฒนาด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านภาษา

2.      ฝึกความฉลาดด้านตรรกะและการคำนวณ ให้ลูกได้สัมผัสของรอบตัว ตั้งแต่ของใช้ในห้องนอน ในบ้าน ในครัว บริเวณบ้าน ให้หัดนับจำนวนถ้วยชามในบ้าน ช้อน ใบไม้ ดอกไม้ ก้อนหิน จะทำให้เด็ก ๆ เริ่มสัมผัสและรับรู้ จด ที่สำคัญ คือ “เกิดความเข้าใจ” ความแตกต่างของสิ่งรอบตัวในด้าน “สี รูปร่าง มิติ ระยะฯ” ซึ่งเป็นฐานสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้คณิตศาสตร์ และเกิดสะสมกระบวนการคิดจากความเข้าใจเหตุผล ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัว ในเวลาต่อมา ก็ให้ได้ฝึกทำงานศิลปะ ทั้งการวาด ปั้น ตัด จัด แยกแยะ (แกะและถอด)  

3.      ฝึกความฉลาดด้านดนตรี ผลการวิจัยในปัจจุบัน พบชัดเจนว่า ดนตรีส่งเสริมพัฒนาการของสมอง เพราะฉะนั้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรฟังดนตรีเบา ๆ จังหวะช้า ท่วงทำนองไม่กระแทกกระทั้น เมื่อเด็กคลอดก็ฟังดนตรีไปพร้อมกับลูก หลากหลายรูปแบบฟังด้วยกัน เน้นดนตรีมากกว่าเพลงร้อง ถ้าหากจะให้ฟังเพลงร้อง ก็เน้นให้เป็นเพลงที่มีเสียงร้องภาษาไทยชัดเจน เพื่อฝึกพัฒนาการภาษาไปพร้อมกัน เมื่อลูกคุ้นเคยกับจังหวะดนตรีแล้วก็ฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวอย่างช้าไปกับเสียงดนตรี ไม่ควรส่งเสริมการเต้นตามเพลงในวิดิโอมิวสิค ที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ในทีวี ไม่เหมาะกับสมองและร่างกายของเด็กเล็ก

4.      ฝึกความฉลาดสัมพันธภาพกับผู้อื่น ที่สำคัญที่สุดคือ การปลูกฝังความประทับใจของการอยู่ร่วมกันในครอบครัว พ่อ-แม่-ลูก การที่พ่อแม่โอบอุ้ม พูดคุยกันด้วยคำพูดที่อ่อนหวาน ประคับประคองจิตใจกัน จะเป็นรากฐานสำคัญยิ่งที่จะทำให้เด็กเกิดความไว้วางใจคนอื่นๆ เริ่มต้นจากคนในครอบครัว ขณะเดียวกัน เด็กก็ได้เรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคลต่าง ๆ เช่น พ่อ ต่างจากแม่อย่างไร (เด็กเล็กยังไม่เข้าใจความแตกต่างว่า ผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันอย่างไร) ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความรู้สึกต่อพ่อต่างจากแม่อย่างไร ต่อมาจึงเริ่มมีเพื่อนใกล้เคียง ก็จะทำให้เห็นความแตกต่างของคนอื่น ๆ ขยายไปถึงสังคมภายนอก พ่อแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้รู้จักคนแปลกหน้าบ้าง เพื่อให้ฝึกการปรับตัวเข้ากับคนอื่นที่อยู่นอกครอบครัว ผลวิจัยทั่วโลก พบชัดเจนว่า เด็กที่มีความฉลาดด้านสัมพันธภาพกับผู้อื่นจะประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน

ทั้งหมดเป็นฐานของการพัฒนาด้านอื่น ๆ ที่สำคัญต่อไป