|
1028Visitors | [2024-08-20]
การประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็งสร้างสุขภาวะทางเพศ (Strong Community for Healthy Sexuality)” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เป็นเวทีสำคัญสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อค้นพบทางวิชาการ และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เพศหลากหลาย และความรุนแรงทางเพศ โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนเครือข่ายการทำงาน เพื่อสร้างสุขภาวะทางเพศ
สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอในวันที่ 15 สิงหาคม 2567 ในหัวข้อ "ท้องวัยรุ่น: จาก Best Practices สู่การปฏิบัติในระดับจังหวัด" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับประเทศ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการนี้มีการจัดทำคู่มือสำหรับการปฏิบัติงานในระดับจังหวัดจากการถอดบทเรียนของจังหวัดที่มีผลงานโดดเด่น เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการทำงานของหน่วยงานระดับชุมชน เพื่อลดอัตราการคลอดของวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ของ 10 จังหวัดที่มีอัตราสูงสุด คาดหวังว่าจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายของประเทศ 15/1,000 ในปี 2570
ซึ่งมีวิทยากรในการนำเสนอ ดังนี้ 1) พญ.สมสิริ สกลสัตยาทร หัวหน้าโครงการ ได้นำเสนอภาพรวมของโครงการ ซึ่งรวมถึงที่มาและความสำคัญ วัตถุประสงค์ และการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการทำงานใน 10 จังหวัด โดยได้พัฒนาคู่มือแนวทางการปฏิบัติ 8 ชุดจากการถอดบทเรียนของ Best practice (เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ นครราชสีมา และ 3 จังหวัดชายแดนใต้) เพื่อปิดจุดอ่อนและสร้างความเข้มแข็งของชุมชน 2) พญ.กนกกร สวัสดิไชย จากจังหวัดจันทบุรี ได้นำเสนอคู่มือที่ 2 ครูนางฟ้าประจำสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ตั้งครรภ์ให้ได้เรียนต่อจนจบ และการขับเคลื่อนโครงการ OHOS (One Hospital One School) ซึ่งบูรณาการกับคู่มือที่ 3 การทำงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในลักษณะเชิงรุก 3) พญ.สมบัติ ชุติมานุกูล จากจังหวัดระยอง ได้นำเสนอคู่มือที่ 1 ซึ่งครอบคลุมการจัดตั้งศูนย์พิทักษ์สิทธิเยาวชนในระดับตำบล และคู่มือที่ 4 ศูนย์พัฒนาครอบครัวตำบล 4) พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ สสจ. จังหวัดปราจีนบุรี ได้นำเสนอคู่มือที่ 6 การบูรณาการคู่มือทั้ง 4 ข้างต้นมาเป็น อบต. เข้มแข็ง เชื่อมโยงกับโครงการเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา : 73 โรงเรียน 73 ชุมชน โดยมีเป้าหมายในการผลักดันให้เป็นนโยบายสาธารณะของสมัชชาสุขภาพจังหวัดปราจีนบุรีในปี 2568-2570 5) พญ.ประยงค์ศรี ดำประพันธ์ จากจังหวัดกาญจนบุรี ได้นำเสนอคู่มือที่ 7 คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และการกำหนดให้ท้องวัยรุ่นเป็นประเด็นสำคัญครบทั้ง 12 อำเภอ และคณะทำงานที่ปรึกษาทางวิชาการ (STAG, Scientific and Technical Advisory Group) เพื่อเป็นคณะทำงานคลังสมองกลุ่มแกนนำ เตรียม ประสาน และติดตามการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการทั้ง 8 ให้อนุกรรมการจังหวัด โดยมี 6) ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ และเชื่อมร้อยการนำเสนอของแต่ละคู่มือของทั้ง 4 จังหวัดเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน
การเสวนานี้ได้รับความสนใจ ถามตอบจนเกินเวลา และได้รับคำชื่นชมอย่างมากจากอนุกรรมการที่ปรึกษาอิสระระดับชาติ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ศ.วารุณี ฟองแก้ว โดยเฉพาะ นพ.พิษณุ ขันติพงษ์ ประธานอนุอิสระฯ แจ้งว่าคู่มือทั้ง 8 นี้แสดงชัดถึงความเป็น Strong community จะนำเข้าเสนอให้มีการขยายผลทั้งประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการระดับชาติต่อไป